เมื่อจีนหลังพิงฝา ต้องพึ่งพาเอกชนฟื้นเศรษฐกิจ

     หลังจากที่ทางการจีนพยายามจะกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามรถกลับมาฟื้นตัวได้ดีจากผลกระทบต่อเนื่องในช่วงที่ทำการปิดประเทศและใช้มาตรการ Lockdown มาอย่างยาวนาน ซึ่งมาตรการทางการเงินที่ถูกนำมาใช้ไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปรับลดอัตราเงินสำรองขั้นต่ำของธนาคาร (Reserve Requirement Ratio : RRR) ลง หรือ การปรับลดดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวลง 10 Bps ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวได้อย่างที่หวัง โดยตัวเลข GDP จีนในไตรมาสที่ 2 ของปีออกมาที่ 6.3% ถึงแม้ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่สูง แต่เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำมาก ๆ จากปี 2022 รวมถึงเทียบกับตัวเลขที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะสูงถึง 7.3% ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าผิดหวัง และส่งผลให้ทางการจีนไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้และนำมาซึ่งท่าทีในการออกมาตรการรอบใหม่เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไล่เรียงมาตั้งแต่การประกาศมาตรการ 31 ข้อในการประกาศว่าจะสนับสนุนการทำธุรกิจของภาคเอกชน อาทิ ลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเอกชน และช่วยให้เอกชนเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น สนับสนุนการจดทะเบียนตั้งบริษัทให้ง่ายขึ้น , การพัฒนาระบบชำระเงินระหว่างบริษัทเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ ฯ สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงบริษัทเอกชนให้เข้าสู่ยุคดิจิทัลและ สนับสนุนการวิจัยพัฒนาเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเทคโนโลยีจีน

     ซึ่งถึงแม้ดูเหมือนว่าจะเป็นมาตรการที่จะยังดูไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณถึงท่าทีของทางการจีนที่ดูเหมือนจะไม่เป็นมิตรกับภาคเอกชนมากนักในช่วงหลัง ไล่เรียงตั้งแต่ธุรกิจเกมส์ ธุรกิจFintech สถาบันกวดวิชา และ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เกือบทุกบริษัท จะเปลี่ยนกลับกลายมาเป็นมุ่งเน้นสนับสนุนให้บริษัทเอกชนเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการช่วยให้เศรษฐกิจจีนให้ฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยสำนักข่าว South China Morning Post ของจีนใช้คำเรียกบริษัทเอกชนว่าจะกลายมาเป็น “Fresh troops” หรือกองกำลังใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และท่าทีของทางการจีนยังได้รับการสนับสนุนจาก CEO ของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง โดยเฉพาะการออกมาโพสต์ยกย่องทางการจีนของ Ma Huateng หรือ Pony Ma CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Tencent ที่ก่อนหน้านี้มักจะไม่ค่อยแสดงความเห็นในที่สาธารณะมากนัก ถือเป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ท่าทีของทางการจีนที่จะสนับสนุนบริษัทเอกชนในครั้งนี้มีความสำคัญมากเพียงใด

     และนอกจากจะหันมาพึ่งพาภาคเอกชนแล้วทางการจีนยังคงจะต้องพึ่งพาเครื่องจักรทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ในการช่วยขับเคลื่อนให้เป้าหมายการเติบโตของจีนเป็นไปตามที่ตั้งไว้ โดยในช่วงครึ่งปีหลังทางการจีนยังประกาศนโยบายหลักว่าจะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคในประเทศ , สร้างความเชื่อมั่น และ ป้องกันความเสี่ยงเศรษฐกิจด้านต่างๆ นอกจากนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดปัญหามาอย่างยาวนาน ทางการจีนก็ประกาศว่าจะปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯในเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากภาวะอุปสงค์ และ อุปทานในที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  

     เรียกได้ว่าเปรียบเสมือนกับจีนกำลังเทหมดหน้าตักและทำทุกวิถีทางเท่าที่ทำได้ในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งแน่นอนว่าท่าทีของรัฐบาลจีนจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากตลาดหุ้น โดยตลาดหุ้นจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวได้ดีขึ้นตั้งแต่ทางการจีนส่งสัญญาณสนับสนุนภาคเอกชน และประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา

     อย่างไรก็ดีหลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีหรือไม่ คงต้องรอดูว่าหลังจากที่มาตรการต่าง ๆ ของทางการจีนถูกนำมาใช้แล้ว เศรษฐกิจจีนและกำไรของบริษัทจดทะเบียนจีนจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ดีขึ้นตามที่ทางการตั้งเป้าไว้หรือไม่ แต่ในช่วงเวลาต่อจากนี้อย่างน้อยบริษัทเอกชนจีนคงไม่ต้องคอยห่วงหน้าพะวงหลัง ว่าจะมีมาตรการกดดันและควบคุมการทำธุรกิจออกมาจากทางการจีนอย่างไม่ได้คาดหมายไว้ล่วงหน้าอีก รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการต่าง ๆ ของทางการจีนมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 3 ปี น่าจะเริ่มหายใจได้สะดวกขึ้นและเริ่มคาดหวังได้ว่าท่าทีของทางการจีนในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยีของจีนจะเริ่มฟื้นคืนกลับมาได้

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว