3 ปัจจัยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

     เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของการลงทุนในปี 2023 ซึ่งถึงแม้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้จะกลับมาสร้างผลตอบแทนได้ดี แต่ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดยังคงมีความผันผวนจากหลายปัจจัยที่เกิดขึ้น อาทิ ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ส่งสัญญาณว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป , ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นกดดันให้เกิดความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง หรือ ประเด็นเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงและอาจส่งผลกระทบมาที่เศรษฐกิจสหรัฐ ฯ อย่างไรก็ดี หากมองหาปัจจัยบวกที่พอจะหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ก็ยังพอที่จะพบว่า มี 3 ปัจจัยที่น่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ ได้รับแรงหนุนและลดความผันผวนลงได้บ้าง

1.ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

     หลังจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี S&P500 ออกมาหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 กำไรของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมออกมาหดตัว -4.1% ซึ่งนักวิเคราะห์ประเมินว่าน่าจะเป็นจุดต่ำสุดของผลการดำเนินงานในปีนี้ โดยผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 3 ซึ่งจะประกาศออกมาในช่วงตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมเป็นต้นไป น่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะกลับมาเติบโตได้ 1.2% โดยกลุ่มที่จะมีกำไรเติบโตได้ดีคือกลุ่ม Consumer Discretionary ที่คาดว่าจะเติบโตได้สูงถึง 40.1% และกลุ่ม Communication Services ที่คาดว่าจะเติบโตได้สูงถึง 23% โดยหากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประกาศออกมาดีตามที่คาดจริง ๆ น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นสามารถีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

2.สถิติในอดีตตลาดหุ้นมักปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย

     หากมองไปที่ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในอดีตของดัชนี S&P500 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายคือ ไตรมาสที่ดัชนี S&P500 ให้ผลตอบแทนได้ดีที่สุด โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 9 จาก 10 ปีหลังสุด และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 5.41% โดยในปีที่ให้ผลตอบแทนสูงที่สุดคือในปี 2020 ที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 11.69% ส่วนปีเดียวที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายคือในปี 2018 ซึ่งตลาดเกิดความกังวลประเด็นสงครามการค้าและ Fed ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด โดยในปีนั้นตลาดหุ้นปรับตัวลดลงถึง -13.97%

3.ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยเริ่มลดลง

     ย้อนกลับไปในช่วงต้นปี 2022 จนถึงช่วงต้นปี 2023 หนึ่งในปัจจัยที่สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนและสร้างแรงกดดันให้กับตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ คือ ภาวะเศรษฐกิจที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2022 ที่ 0-0.25% มาจนถึง 5-5.50% ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงต้นปีที่ธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กของสหรัฐ ฯ เกิดปัญหาขึ้น อย่างไรก็ดีเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปีเป็นต้นมา ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ ฯ ทั้งตัวเลขการบริโภคและการจ้างงานยังคงออกมาแข็งแกร่ง อาทิ ตัวเลขยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนการบริโภคของชาวอเมริกัน ออกมาขยายตัวถึง 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะออกมาขยายตัวแค่ 0.2% รวมถึงตัวเลขการจ้างงานในเดือนสิงหาคมที่ยังคงออกมาดีที่ 187,000 ตำแหน่ง ซึ่งถึงแม้ดูจะเป็นตัวเลขที่ค่อย ๆ ชะลอลงบ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นจำนวนที่สะท้อนภาพความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานสหรัฐฯได้เป็นอย่างดี ประกอบกับล่าสุดที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็ได้ประกาศว่าจะทำการจ้างงานเพิ่มอีกถึง 250,000 ตำแหน่งเพื่อรองรับเทศกาลช้อปปิ้งในช่วงปลายปี ซึ่งการจ้างงานด้วยตัวเลขมากขนาดนี้ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐ ฯ น่าจะยังสามารถเติบโตได้ต่อ และอาจหลีกเลี่ยงการเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้

     โดยถึงแม้ว่าจาก 3 ปัจจัยบวกดังกล่าวน่าจะช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐ ฯ ให้ไปต่อได้ แต่ก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องจับตาอีกเช่นกัน อาทิ การประชุม Fed ในอีก 2 ครั้งที่เหลือของปี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน และวันที่ 13 ธันวาคม , การประท้วงของพนักงานผลิตรถยนต์ในสหรัฐ ฯ ซึ่งถ้าหากมีความยืดเยื้ออาจจะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ ซึ่งนักลงทุนยังคงต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี และยังคงเน้นการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหลายสินทรัพย์และหลายภูมิภาคเพื่อลดความเสี่ยงและความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลงให้น้อยลงที่สุด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว