ทางการจีนแจกอั่งเปาผ่านหลายมาตรการกระตุ้น หนุนตลาดหุ้นรับตรุษจีน

     ในปีที่แล้ว ตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่มีผลตอบแทนแย่ที่สุดในโลก โดยทั้งตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงสูญเสียมูลค่าตลาดรวมกันไปราว $7 trillion จากจุดสูงสุดในปี 2021 และในช่วงเริ่มต้นปี 2024 ก็ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเริ่มสามารถฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง ดัชนี CSI300 เพิ่มขึ้น +5.83% (-1.93% ตั้งแต่ต้นปี), ดัชนี HSCEI เพิ่มขึ้น +3.19% (-6.45% ตั้งแต่ต้นปี) หลังมีการประกาศมาตรการมากมายจากหน่วยงานภาครัฐของจีนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดหุ้น สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเพื่อพยุงตลาดหุ้นจีนไม่ให้ปรับลงไปมากกว่านี้โดยความเคลื่อนไหวของทางการจีนส่งผลให้มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามายังตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่สูงที่สุดในรอบ 3 ปีนอกจากนี้มีรายงานข่าวว่าปธน. Xi Jinping จะลงมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเองเพื่อหาทางแก้ปัญหาในตลาดหุ้นที่ปรับลงอย่างหนัก โดยความเคลื่อนไหวสำคัญของทางการจีนและมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา มีดังนี้

PBoC ยังคงเพิ่มสภาพคล่องผ่านเครื่องมือต่างๆต่อเนื่อง

     หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศลดอัตราส่วนเงินฝากขั้นต่ำที่ธนาคารพาณิชย์ต้องถือเก็บไว้เป็นเงินสำรอง (Reserve Requirement Ratio: RRR) ลง 50 bps. มากกว่าตลาดคาดที่ 25 bps. โดยถือเป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกของปี โดยเมื่อปี 2023 มีการประกาศปรับลดไป 2 ครั้ง สะท้อนความจริงจังในการดำเนินนโยบาย เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากตลาดหุ้นจีนปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

     อีกทั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา PBoC ยังมีการเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบผ่าน Medium-term Lending Facility (MLF) ราว ¥1.6 trillion และอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมผ่านเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ โดย Bloomberg คาดว่าการปรับลด RRR ครั้งที่จะเกิดขึ้นนี้จะช่วยเสริมสภาพคล่องระยะยาวเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นราว ¥1 trillion และ PBoC มีโอกาสสูงที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLF อีกภายในเดือน มี.ค.นี้

ภาครัฐเข้าพยุงตลาดต่อเนื่องผ่านการเข้าซื้อกองทุน ETF

     นอกจากนี้ อีกมาตรการที่เด่นชัดที่สุดของภาครัฐคือการเข้าพยุงตลาดหุ้นผ่านกองทุนความมั่งคั่งของจีน (Sovereign Wealth Fund: SWF) ซึ่งมีการเข้าซื้อหุ้นที่จดทะเบียนในประเทศ (Onshore) อย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการว่ากองทุนดังกล่าวเข้าซื้อหุ้นจีนด้วยมูลค่าราว ¥70 billion ($9.7 billion) ในเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุด Central Huijin Investment ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจประกาศจะซื้อกองทุนรวมดัชนี (ETF) ที่ลงทุนในหุ้นจีนเพิ่มเติม โดยเมื่อรวมยอดเงินกับนักลงทุนต่างชาติแล้ว ทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าซื้อหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ราว ¥1.7 billion โดยมูลค่าการซื้อขายรวมในกองทุน ETF รายสัปดาห์จากกองทุนของภาครัฐพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นอันดับที่ 3 หลังจากขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในปี 2015

เตรียมแผนสนับสนุนสำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ

     สำหรับการแก้ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารกลางจีน (PBoC) และสำนักงานกำกับดูแลด้านการเงินแห่งชาติ (NFRA) ประกาศเตรียมแผนช่วยเหลือด้านการเงินในหลายมิติ ทั้งการอัดฉีดเม็ดเงิน ¥ 150 billion ($20.9 billion) เข้าสู่กองทุนสำหรับให้กู้ในโครงการบ้านและโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการการให้กู้ยืมแบบมีข้อผูกมัด (Pledged Supplemental Landing: PSL) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ที่กำลังประสบปัญหา มีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนการก่อสร้างโครงการต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อสำหรับธุรกิจพัฒนาอสังหาฯและบริษัทเพื่อสร้างบ้านใหม่เพื่อให้เช่าในระยะยาว เป็นต้น

หน่วยงานรัฐออกมาตรการควบคุม Short Sell และเข้าพบปะบริษัทจดทะเบียน

     นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์ (China Securities Regulatory Commission: CSRC) ได้ออกมาตรการในการควบคุมการทำธุรกรรม Short Sell ในหุ้นบางกลุ่มของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนอย่างหนัก ซึ่งทางการจีนประกาศระงับ Short Sell เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อป้องกันการปรับลงของตลาดหุ้น

อีกทั้ง หน่วยงานกำกับดูแลของจีนได้เข้าพบปะบริษัทจดทะเบียนใน 20 เมืองตลอดสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อเร่งดำเนินการแก้ปัญหาของบริษัทเกี่ยวกับนโยบายภาษี การนำเข้าส่งออกไปจนถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งประกาศว่าจะสนับสนุนให้บริษัทเพิ่มมูลค่าการลงทุนผ่านการควบรวม (M&A) การเข้าซื้อกิจการ และการปรับโครงสร้างบริษัทอีกด้วย

ประกาศแต่งตั้งประธาน CSRC คนใหม่ เพื่อหาแนวทางกระตุ้นตลาด

     นอกจากมาตรการต่างๆแล้ว การเปลี่ยนแปลงบุคคลสำคัญในตลาดทุนก็เป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของทางการจีนด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดมีการประกาศแต่งตั้ง Wu Qing ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานและหัวหน้าคณะกรรมการกำกับดูแลทรัพย์ (CSRC) คนใหม่แทน Yi Huiman ซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2019 เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังจากที่ตลาดปรับลงต่อเนื่องอย่างหนัก โดยทางการจีนเคยมีการปลดและแต่งตั้งหัวหน้าหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทรัพย์ หลังจากเกิดการเทขายหุ้นครั้งใหญ่ในปี 2016 และมีส่วนให้ดัชนี CSI300 ปรับขึ้นหลังจากนั้นมากกว่า 30%

     โดย Wu Qing เคยดำรงตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีด้านการเงินในเซี่ยงไฮ้และประธานตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ รวมถึงเป็นสมาชิกสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 20 และเคยทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรี Li Qiang ดังนั้น การขึ้นดำรงตำแหน่งของ Wu Qing เป็นการส่งสัญญาณการเอาใจใส่ต่อตลาดทุนที่มากขึ้นต่อของปธน. Xi Jinping ทั้งนี้ หลังจากมีประกาศดังกล่าว ราคาหุ้นตอบรับในเชิงบวก โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลาง-เล็กอย่างดัชนี CSI1000 ที่ปรับขึ้น 4.07% ภายในวันเดียว

     อย่างไรก็ดีหากย้อนไปดูในอดีตที่ผ่านมา การออกมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลรวมถึงการเข้าซื้อหุ้นของรัฐบาลจะสามารถช่วยให้ตลาดหุ้นฟื้นได้ในระยะสั้น แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันเสมอไปว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้อย่างยั่งยืนและผ่านจุดต่ำสุดไปได้หลังจากนั้น โดยเมื่อปี 2015 เองที่ทางการจีนเคยเข้าซื้อหุ้นเพื่อพยุงตลาด ตลาดหุ้นจีนเองก็ปรับตัวลดลงต่อและจุดต่ำสุดเกิดขึ้นเกือบ 1 ปีต่อมาในปี 2016

    สำหรับในครั้งนี้คาดว่าปัจจัยที่จะทำให้ตลาดหุ้นจีนผ่านจุดต่ำสุดและปรับตัวเพิ่มขึ้นได้น่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมามากกว่านี้ของรัฐบาลจีน ซึ่งมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นขึ้น และส่งผลมายังผลประกอบการของบริษัทจะทะเบียนของจีนซึ่งจะกลับมามีกำไรเติบโตได้ดีอีกครั้ง นอกจากนี้แล้วสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอาจเป็นการจุดประกายให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนที่เป็นสถาบันหันกลับมาลงทุนในหุ้นจีนอีกครั้ง หลังจากที่เทขายหุ้นจีนออกไปในช่วงก่อนหน้านี้ แต่หากรัฐบาลยังไม่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติมและเศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอเหมือนในช่วงที่ผ่านมา การยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจากทางการจีนก็คงอาจเป็นได้แค่เพียงปัจจัยหนุนตลาดหุ้นได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ที่มา: Bloomberg

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว