ช่วงที่ผ่านมา เพื่อนๆ น่าจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับนายจ้างและกิจการหลายแห่งปิดตัวลง ส่งผลกระทบให้พนักงานตกงานและขาดรายได้อย่างกระทันหัน ซึ่งถ้าใครที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่ไม่ได้วางแผนรับมือไว้ ก็อาจจะมีเงินไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ดังนั้น ทุกคนควรวางแผนเตรียมเงินก้อนสำคัญที่เรียกว่า “เงินสำรองฉุกเฉิน” ไว้ให้พร้อม ให้ออมเป็นอันดับแรกและออมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อไว้ใช้ในยามจำเป็นหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเก็บออมไว้ในทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องและไม่มีความเสี่ยงเรื่องการขาดทุน เช่น เงินฝากออมทรัพย์ที่ถอนได้ตลอดเวลา เงินฝากประจำระยะสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น โดยปกติแล้ว เราไม่ควรนำเงินสำรองฉุกเฉินมาใช้ในเหตุอื่นที่ไม่ใช่เหตุฉุกเฉินโดยเด็ดขาด
ว่าแต่…เหตุการณ์ไหนล่ะที่เรียกว่าเป็นเหตุฉุกเฉินที่นำเงินมาใช้ได้ แอบใบ้นิดนึงแล้วกัน…ก็ต้องเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือว่าถ้าไม่แก้ไข เราจะชีวิตต่อไปแบบยากลำบาก ตัวอย่างเช่น
- ตกงาน/ รายได้ลดกระทันหัน ทำให้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ
- ตนเอง/ครอบครัว เจ็บป่วยกระทันหัน เช่น ผ่าตัดไส้ติ่ง บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เป็นต้น
- ทรัพย์สินเสียหายแบบไม่คาดฝัน เช่น หลังคารั่ว รถเสีย เป็นต้น.
แล้วถ้าเรามีการใช้เงินสำรองฉุกเฉินไปบางส่วนหรือทั้งหมด เมื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้ผ่านไปแล้ว เราจะต้องกลับมาออมเงินสำรองฉุกเฉินอีกครั้งเพื่อเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต
แล้วมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ ควรจะมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ล่ะ?
คำตอบก็คือ เงินสำรองฉุกเฉินควรเก็บไว้ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ขึ้นกับว่าเรามีความมั่นคงทางรายได้มากน้อยแค่ไหน ไปดูตัวอย่างการคำนวณกันเลย
สมมุติว่าถ้าเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเดือนละ 20,000 บาท ดังนั้นควรมีเงินสำรองฉุกเฉินประมาณ 60,000 บาท – 120,000 บาทนั่นเอง
เพื่อนๆ สามารถพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ของตนเอง เพื่อหาจุดที่เหมาะสมและสบายใจสำหรับการออมเงินสำรองฉุกเฉิน ทีนี้…ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไร เราก็จะไม่รู้สึกฉุกเฉิน เพราะมีตัวช่วยยามฉุกเฉินนั่นเอง แล้วถ้าออมเงินสำรองฉุกเฉิน…ก็อย่าลืมแบ่งเงินไปออมเพื่อการเกษียณ แล้วทีนี้ เราก็จะมั่นคง มั่งคั่ง แล้วก็มีความสุขไปด้วยกันทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ