ถาม-ตอบ


  • หน่วยงานใดเป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจกองทุนรวมในประเทศไทย?

    หน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลธุรกิจกองทุนรวม คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)
    เบอร์โทรศัพท์ 02-263-6000

  • กองทุนรวมคืออะไร?

    กองทุนรวมเป็นทางเลือกหนึ่งของการลงทุน ที่ให้นักลงทุนได้รับความสะดวกสบายในการลงทุนทั้งในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญในการบริหารกองทุน เมื่อลงทุนในกองทุน ผู้ลงทุนจะได้รับหน่วยลงทุนตามสัดส่วนทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยคำนวณจากทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งทรัพย์สินสุทธิของกองทุนจะถูกคำนวณตามมูลค่าตลาดทุกวัน (Net Asset Value) เมื่อมีผู้ลงทุนในกองทุนนั้นเพิ่มขึ้น จำนวนหน่วยลงทุนก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

  • ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวมคืออะไร?

    การลงทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม มีข้อดีดังนี้

    1. การกระจายการลงทุน ผู้ลงทุนสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนโดยผ่านระบบกองทุนรวม เมื่อผู้ลงทุน นำเงินลงทุนทั้งหมดลงทุนในบริษัทเพียงบริษัทเดียว ถ้าเกิดความล้มเหลวในบริษัทนั้น ผู้ลงทุนก็จะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดทันที โดยทั่วไปกองทุนรวม จะนำเงินลงทุนในบริษัทเดียว ไม่เกิน 15% ของพอร์ตการลงทุน และในการลงทุนขณะใดขณะหนึ่ง กองทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในตราสารทุน 20-30 ตัว
    2. การบริหารการลงทุนโดยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวมมีต้นทุนในการลงทุนที่เหมาะสม เนื่องจากผู้จัดการกองทุนจะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลของตราสารทุนแต่ละตัว และข้อมูลวิจัยจากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งทำให้การบริหารกองทุนมีการลดความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
    3. ลดงานเอกสาร ผู้ลงทุนที่ลงทุนด้วยตนเอง สามารถลดงานเอกสารในการจัดพอร์ตการลงทุน ด้วยการลงทุนผ่านกองทุนรวม
    4. ยกเว้นภาษี รายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการลงทุนของกองทุนรวม เช่น เงินปันผล, กำไรส่วนต่างจากการลงทุน และดอกเบี้ย จะได้รับการยกเว้นภาษี ผู้ลงทุนที่ลงทุนในกองทุนรวม เมื่อขายหน่วยลงทุนก็จะได้รับการยกเว้นภาษีเช่นกัน ส่วนนักลงทุนสถาบันที่ลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล อาจได้รับการยกเว้นภาษี 50-100% ขึ้นอยู่กับประเภทของนักลงทุนสถาบัน

  • กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพคืออะไร?

    กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เป็นกองทุนที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีเงินออมในยามเกษียณ รัฐบาลได้อนุญาตจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund) โดยมีนโยบายเน้นให้ประชาชนลงทุนอย่างสม่ำเสมอและเป็นการลงทุนโดยสมัครใจ การลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ผู้ลงทุนสามารถเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งการลงทุนในตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้ ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีสูงสุดถึง 15% ของรายได้ต่อปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ถ้าผู้ลงทุนได้ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อนำมารวมกับจำนวนเงินที่ซื้อกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพต้องไม่เกิน 500,000 บาท และผู้ลงทุนจะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และจะต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (การนับ 5 ปี จะนับเฉพาะปีที่มีการซื้อหน่วยลงทุนเท่านั้น)

  • รายได้ประเภทใดบ้างที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้?

    รายได้ที่นำมาลดหย่อนภาษีมีดังนี้

    1. เงินเดือน, โบนัส, เบี้ยเลี้ยง, และเงินบำเหน็จ-บำนาญ
    2. ค่าธรรมเนียมการบริการ
    3. ค่าลิขสิทธิ์
    4. รายได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์, ทนาย, ผู้ตรวจสอบบัญชี, อื่นๆ
    5. รายได้ที่เกิดจากการให้เช่าทรัพย์สิน
    6. รายได้จากการประกอบธุรกิจพาณิชย์, ธุรกิจการเกษตร, ธุรกิจอุตสาหกรรม, และธุรกิจขนส่ง

  • ใครควรลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund)?

    บุคคลที่ควรลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ

    1. พนักงานบริษัทหรือเจ้าของกิจการที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    2. พนักงานบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ต้องการลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี
    3. สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่ต้องการลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

  • มีช่วงเวลาและเงื่อนไขในการลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพอย่างไรบ้าง?

    การลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนจะต้อง

    1. ไม่ไถ่ถอนหน่วยลงทุนก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และต้องลงทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี
    2. ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกปี ไม่สามารถระงับการลงทุนได้เกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน (ลงทุนอย่างน้อยปีเว้นปี) ยกเว้นปีใดที่ไม่มีเงินได้ก็ไม่ต้องลงทุน
    3. สามารถลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 3% ของเงินได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท (แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะต่ำกว่า)
    4. หน่วยลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพไม่สามารถจำหน่าย, จ่ายโอน, จำนำ หรือนำไปเป็นประกันได้
    5. หากผู้ลงทุนไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ ผู้ลงทุนจะต้องนำเงินภาษีที่ได้ลดหย่อน 5 ปีย้อนหลังคืนกรมสรรพากร
    6. กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี หรือขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปี ผู้ลงทุนจะต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (Capital Gain) ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

  • NAV (เอ็น เอ วี ) คืออะไร?

    เอ็น เอ วี คือ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ของหลักทรัพย์และ ทรัพย์สิน ที่กองทุนรวมลงทุนไว้ ณ วันสิ้นวันทำการ โดยจะทำการคำนวณตามหลักการ Mark to market กล่าว คือ ต้องคำนวณมูลค่าจากราคาปิด หรือราคาปิดครั้งสุดท้าย ส่วนมูลค่าต่อ หน่วย จะคำนวณโดยการนำมูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาหารด้วยจำนวนหน่วยลงทุนที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของกองทุน

  • มูลค่าต่อหน่วย (NAV per unit) ของแต่ละกองทุน มีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกลงทุนหรือไม่?

    มูลค่าต่อหน่วยของแต่ละกองทุน จะมากหรือน้อยมิได้ เป็นมาตรวัดในการตัดสินใจเลือกกองทุน เพราะกองทุนที่มีค่า NAV ต่อหน่วยต่ำมิได้หมายความว่าผลตอบแทน ในอนาคตจะต้องสูงเสมอไป สิ่งที่สำคัญในการตัดสินใจเลือกกองทุน คือ ศักยภาพของกองทุนที่จะเติบโต หรือเพิ่ม มูลค่าขึ้นในอนาคต (potential growth) โดยผู้ลงทุนสามารถใช้ผลการดำเนิน งานย้อนหลัง เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ปัจจัยหนึ่ง

  • กองทุนที่มีนโยบายปันผลและกองทุนที่ไม่มีนโยบายปันผลแตกต่างกันอย่างไร?

    กองทุนที่มีนโยบายปันผลจะให้ผลตอบแทนในรูปส่วนแบ่งเงินปันผล ที่สม่ำเสมอ ในแต่ละรอบปีบัญชี 1-2 ครั้ง ขึ้น อยู่กับแต่ละนโยบายของกองทุน ส่วนกองทุนที่ไม่มีนโยบายปันผล จะให้ผลตอบแทนในรูปส่วนต่างกำไร หรือ ส่วนต่าง ราคาของหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาวันที่ซื้อหน่วยลงทุน โดยจะไม่ได้รับเงินปันผลระหว่างระยะเวลาที่ถือหน่วยลงทุน ดังนั้นนโยบายการปันผลกำไรของกองทุน จึงมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกประเภทกองทุน เช่นกัน

  • ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนคืออะไร?

    เป็นค่าตอบแทนในการบริหารกองทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทน โดยจะกำหนดเป็นจำนวน ร้อยละ จากมูลค่าทรัพย์สิน สุทธิของกองทุน ซึ่งจะมีการกำหนดไว้แตกต่างไปตามที่ บลจ.กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน

  • ประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนในกองทุนส่วนบุคคล

    ประโยชน์หลักๆ จากกองทุนส่วนบุคคลได้แก่

    1. ก. นโยบายการลงทุนมีความยืดหยุ่นตามความต้องการของลูกค้า เราจะบริหารเงินลงทุนโดยมีการวิเคราะห์ ความต้องการของลูกค้า ระดับความเสี่ยงและอัตราผลตอบแทน ที่ลูกค้าต้องการ โดยลูกค้าจะมีส่วนร่วมในการกำหนด นโยบายการลงทุนภายใต้คำแนะนำของผู้จัดการกอง ทุนที่มีประสบการณ์
    2. ข. บริหารเงินลงทุนแบบมืออาชีพ เงินของลูกค้าจะได้รับการดูแลภายใต้ทีมบริหารกองทุนมืออาชีพที่มีประสบการณ์ในการบริหารสินทรัพย์
    3. ค. บริการประทับใจ เนื่องจากลูกค้ามีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง เจ้าหน้าที่การตลาดของเราพร้อมให้บริการลูกค้า ทั้งการให้ ข้อมูลการ ลงทุนต่าง ๆ ที่สำคัญ การเคลื่อนไหวของตลาด และรายงานพอร์ตการลงทุนทุกเวลาที่ท่าน ต้องการ

  • ใครเป็นคนรักษาทรัพย์สินของลูกค้า

    ตามกฎหมาย เราจะแต่งตั้งผู้รับฝากทรัพย์สินเป็นคนกลาง ในการดูแลทรัพย์สินของลูกค้า โดยทรัพย์สินของลูกค้าจะ แยกออกจากสินทรัพย์ของบริษัทอย่างสิ้นเชิง เมื่อผู้จัดการ กองทุนซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในพอร์ตการลงทุนของท่าน ผู้ จัดการกองทุนจะส่งคำสั่งการลงทุนไปยังผู้รับฝากทรัพย์สิน และสั่งให้ผู้รับฝากทรัพย์สินจ่ายเงินเพื่อแลกกับทรัพย์สินหรือ รับเงินพร้อมส่งมอบทรัพย์สินกับคู่ค้าตามคำสั่งของ ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล

  • ลูกค้าจะสามารถติดตามผลการดำเนินงานของกองทุนได้อย่างไร

    เราจะมีการส่งรายงานการลงทุน พอร์ตการลงทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ผลการดำเนินของกองทุน สรุปสภาวะตลาด เป็นประจำทุกเดือน