TISCO ESU Morning View ประจำวันที่ 28 ก.ย. 66
Summary
  • ไทย: กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย +25bps พร้อมระบุว่าอัตราดอกเบี้ยได้อยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว    

  • น้ำมัน: คลังน้ำมันดิบในเมือง Cushing ยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 7 เข้าใกล้ระดับฐานที่มักถูกรักษาไว้ให้ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาร์เรล แม้จะมีความช่วยเหลือพิเศษจาก SPR ที่ปล่อยออกมาโดยไม่ได้ประกาศล่วงหน้าอย่างเป็นทางการ

Today’s Data Releases
  • เยอรมนี: ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.ย.

  • สหรัฐฯ: ตัวเลขทางการ GDP ไตรมาสสอง และยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สิ้นสุดสัปดาห์ ณ 23 ก.ย.

Upcoming Events
  • (ต้นเดือน ต.ค.) คาดซาอุดีอาระเบียมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มการผลิตสำหรับเดือน พ.ย. 2023 ขึ้น ตามท่าทีในช่วงที่ผ่านมาที่เริ่มลดความแข็งกร้าวลง หลังมาตรการลดการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจ (Unilateral voluntary cut) ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาน้ำมันดิบให้ปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 90 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเรามองว่าน่าจะใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายของทางซาอุดีอาระเบียและ OPEC แล้ว แต่หากซาอุดีอาระเบียยังคงยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนแปลงอัตราการผลิตจากปัจจุบัน (ประมาณ 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ก็อาจเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงด้านสูงให้แก่ราคาได้ 

  • (1 ต.ค.) ติดตามการอนุมัติงบประมาณประจำปี FY 2024 ของสหรัฐฯ หากทางสภาคองเกรสไม่สามารถอนุมัติงบประมาณประจำปี FY2024 ได้ทันก่อนวันที่ 1 ต.ค.หน่วยงานรัฐบาลกลางบางแห่งจะต้องเผชิญกับการหยุดทำการชั่วคราว ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานและการจ่ายค่าจ้างของลูกจ้างในหน่วยงานดังกล่าว โดยทาง Bloomberg Economics ประเมินว่าจะกระทบต่อ GDP สหรัฐฯ ราว 0.2% (Quarterly annualized rate) ต่อหนึ่งสัปดาห์ที่มีการหยุดทำการชั่วคราว 

  • (1 ต.ค.) มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2023 นี้ อย่างไรก็ดี ในระยะแรกยังเป็นการเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition period) ไปจนกระทั่งวันที่ 31 ธ.ค. 2025 (เป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีกว่า) โดยในระหว่างนี้ การค้าระหว่าง EU จะต้องมีการรายงานชนิดของสินค้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอน โดยสินค้าที่ครอบคลุมในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ประกอบไปด้วย เหล็กเเละเหล็กกล้า, อลูมิเนียม, ซีเมนต์, ปุ๋ย, ไฟฟ้า และไฮโดรเจน อย่างไรก็ดี ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ยังไม่มีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และจะเข้าสู่ช่วงบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 ม.ค. 2026 เป็นต้นไป ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าที่อยู่ในกลุ่ม CBAM ซึ่งราคาคาร์บอนจะคิดตามราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของ EU-ETS 

  • (1 ต.ค.) คาดว่าร่างงบประมาณ FY2024 ของไทย ที่ได้มีการทบทวนล่าสุดหลังได้รัฐบาลชุดใหม่ จะสามารถส่งให้สภาพิจารณาได้ภายในไม่เกินเดือน ธ.ค. 2023 ซึ่งในช่วงปีงบประมาณใหม่ที่ร่างฯ ยังไม่ได้รับการอนุมัตินั้น จะมีการใช้งบประมาณไปพลางก่อนที่ไม่เกิน 1.8 ล้านล้านบาท (vs. ร่างฯ เดิมที่ 3.35 ล้านล้านบาท และร่างฯ ใหม่ที่ 3.48 ล้านล้านบาท) ตามที่สำนักงบประมาณได้เสนอไป เพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ในช่วงเดือน ต.ค. 2023 - พ.ค. 2024 (หรือ 8 เดือน) อย่างไรก็ดี กำหนดกรอบวงเงินดังกล่าวนั้น จะสามารถใช้ได้เฉพาะงบรายจ่ายประจำ และงบรายจ่ายลงทุนที่มีรายการผูกพันวงเงินไว้แล้ว (~1 แสนล้านบาท vs. งบลงทุนในร่างฯ เดิมที่ ~6.9 แสนล้านบาท และร่างฯ ใหม่ที่ ~7.2 แสนล้านบาท) 

  • (4 ต.ค.) การประชุมย่อยในระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม OPEC (Joint Ministerial Monitoring Committee: JMMC) ครั้งที่ 50 ซึ่งคาดว่าจะมีเพียงการรายงานเพื่อทบทวนอัตราการผลิตน้ำมันดิบของประเทศสมาชิกในระหว่างเดือน ก.ค. - ส.ค. 2023 เทียบกับปริมาณโควต้า และคาดว่าจะลงมติยืนยันการคงระดับเป้าหมายการผลิตน้ำมันดิบทั้งอย่างเป็นทางการ (Official quota) และการปรับลดการผลิตเพิ่มเติมโดยสมัครใจของสมาชิกบางประเทศ (Voluntary cut) ไปจนถึงสิ้นปี 2024 

  • (กลางเดือน ต.ค.) IMF จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจโลก (รายงานเดือน ก.ค. คาดเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3% ในปี 2023-24F) ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจมีการปรับคาดการณ์ GDP ของสหรัฐฯ สูงขึ้น หลังรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนนับตั้งแต่รายงาน IMF ครั้งก่อนออกมาสูงกว่าตลาดคาด สะท้อนผ่านดัชนี Economic Surprise Index ขณะที่อาจแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของยูโรโซนและจีน โดยในส่วนของยูโรโซนนั้น อาจเกิดจากปัญหาเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่มาก ความอ่อนแอในภาคการผลิต และการชะลอตัวลงของกิจกรรมภาคบริการ ด้านจีน อาจเกิดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแออยู่มาก จนนำไปสู่การผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเพิ่มเติมของทางการจีนในช่วงที่ผ่านมา 

  • (30-31 ต.ค.) คาด BoJ จะคงการดำเนินนโยบบายการเงินเดิมทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการ Yield Curve Control ต่อไป เพื่อรอดูพัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจ โดยเรามองว่าค่าจ้างรายเดือน (Cash Earnings) ที่ขยายตัวเพียง 1.1% YoY ในเดือน ก.ค. ยังไม่สะท้อนความแน่นอนและความยั่งยืนของค่าจ้าง เเละยังขยายตัวตํ่ากว่าระดับ 3% ที่เป็นเป้าหมายของนาย Kuroda อดีตผู้ว่าฯ BoJ ที่เคยระบุไว้ว่าเป็นระดับที่ทำให้เงินเฟ้อจะสามารถไปสู่เป้าหมายที่ 2% ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นที่คาดว่าจะชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า โดยตลาดคาดเงินเฟ้อ Core CPI (ไม่นับรวมราคาอาหารสด) จะชะลอตัวลงในไตรมาส 3 เเละ 4 เป็น 3.0% เเละ 2.5% ตามลำดับ  ทั้งนี้ ต้องติดตามการปรับประมาณการเงินเฟ้อของ BoJ ที่จะเป็นตัวส่งสัญญาณทิศทางการดำเนินนโยบายของ BoJ ในระยะถัดไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว