สหรัฐฯถูกหั่นเครดิต เป็นวิกฤตหรือโอกาส?

     นับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะ ดัชนี NASDAQ100 ที่ปรับตัวลดลงมากที่สุด -4.16% (MTD as of 9 ส.ค. 2023) ส่วนหนึ่งมาจากแรงขายทำกำไร รวมถึงได้รับผลกระทบสืบเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. จากการ Rebalance รอบพิเศษของดัชนี NASDAQ100 จนกระทั่งในช่วงต้นเดือน ส.ค. ถูกกดดันจากการที่ Fitch Rating ปรับลดเครดิตสหรัฐฯ รวมถึง Moody’s ได้ปรับลดเครดิตกลุ่มธนาคารสหรัฐฯ ซ้ำเติมอีกระลอกหนึ่ง เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นหรือไม่? จะกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างไร? สินทรัพย์ใดน่าสนใจจากโอกาสนี้? ลองพิจารณาไปพร้อมๆกัน

Fitch Rating หั่นเครดิตประเทศสหรัฐฯ Moody’s หั่นเครดิตกลุ่มธนาคาร กระทบตลาดหุ้นอย่างไร?

     ในช่วงปี 2011 เคยมีเหตุการณ์ที่ S&P’s สถาบันจัดอันดับเครดิตชื่อดัง ได้ปรับลดอันดับเครดิตประเทศสหรัฐฯ จาก AAA เป็น AA+ จากความกังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ และกังวลเรื่องความล่าช้าในการผ่านกฏหมายขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ณ เวลานั้น สภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอัตราการเติบโตที่ชะลอ ตลาดแรงงานค่อนข้างอ่อนแอ โดยอัตราการว่างงานในปี 2011 อยู่ที่ระหว่าง 8.5%-9.1% ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง การจ้างงานนอกภาคเกษตรชะลอลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้นักลงทุนมีความกังวลจนเกิดแรงเทขายหุ้นสหรัฐฯอย่างหนัก โดยดัชนี S&P500 ปรับลดลงมากที่สุดกว่า -10% ภายใน 1 เดือนหลังจากถูกปรับลดเครดิต แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวประมาณ 50 วัน ดัชนี S&P500 เริ่มรีบาวด์ และเริ่มเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น สะท้อนว่าความกังวลที่นักลงทุนมีต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นเพียงความกังวลระยะสั้น และในท้ายที่สุดนักลงทุนจะกลับมาโฟกัสที่ศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจ และกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก

     หากเปรียบกับเหตุการณ์ล่าสุดในช่วงต้นเดือน ส.ค. ปี 2023 Fitch Rating ได้ปรับลดอันดับเครดิตประเทศสหรัฐฯ จาก AAA เป็น AA+ โดยมีเหตุผลที่คล้ายกัน คือ กังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงการขาดดุลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า และหลังจากนั้นเพียงหนึ่งสัปดาห์ Moody’s สถาบันจัดอันดับเครดิตอีกรายก็ได้ออกมาปรับลดเครดิตของธนาคารในสหรัฐฯ กว่า 10 ธนาคาร รวมถึงมีการเพิ่มบางธนาคารเข้าไปในลิสต์เพื่อพิจารณาลดเครดิตในระยะข้างหน้า จากความกังวลเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ และต้นทุนในการปล่อยกู้ที่สูงจนอาจกระทบต่อกำไรของธนาคาร ทำให้นักลงทุนมีความกังวล และเทขายหุ้นสหรัฐฯออกมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงต้นเดือน

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ห่างจากภาวะถดถอย ผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัว

     แต่ในครั้งนี้เราคาดว่าตลาดหุ้นอาจจะไม่ปรับฐานรุนแรงเหมือนกับปี 2011 โดยปัจจัยหลักมาจาก การที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ขยายตัว หากมองย้อนกลับไป 4 ไตรมาสก่อนหน้า GDP สหรัฐฯ สามารถเติบโตได้เฉลี่ย +2% QoQ(Annualized) และหากมองทั้งปี 2023 นักวิเคราะห์คาดว่าจะเติบโตได้ +1.6% YoY โดยล่าสุด Bank of America ได้ออกมาปรับคาดการณ์มุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯจากเดิมที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ “ภาวะถดถอยแบบปานกลาง” เป็นชะลอตัวลงแบบ “Soft Landing” สะท้อนมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง โดยอัตราการว่างงานอยู่ระดับต่ำที่ 3.5% ในเดือน ก.ค. ขณะที่คาดการณ์ของ Fed มองปลายปี 2023 และ 2024 ที่ 4.1% และ 4.5% ตามลำดับ แม้จะเพิ่มขึ้นแต่ยังถือว่าไม่มาก ประกอบกับเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เราเชื่อว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่การประชุมเดือน ก.ย. เป็นต้นไป นอกจากนี้พบว่าในส่วนของกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2023 ด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้เราเชื่อว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐฯจะมี Downside ที่ค่อนข้างจำกัดมากกว่าเมื่อเทียบกับปี 2011 และคาดว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามการเติบโตของกำไรในระยะยาว

นักวิเคราะห์คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไม่รวมกลุ่มพลังงานในดัชนี S&P500 
จะพลิกกลับมาเป็นกำไรในช่วงไตรมาส 3 หลังจากหดตัวมา 5 ไตรมาสติดต่อกัน

 

หุ้น และ ตราสารหนี้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงระยะสั้น แต่ยังน่าสนใจในระยะยาว

     นอกจากหุ้นสหรัฐฯที่ได้รับกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว ตราสารหนี้สหรัฐฯ ก็เป็นอีกสินทรัพย์หนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ส.ค. พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีแรงเทขายออกมาจากความกังวลดังกล่าว ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี เร่งตัวขึ้นมายืนเหนือระดับ 4% จนนักลงทุนสถาบันเริ่มหันมาให้ความสนใจ โดยล่าสุด Berkshire Hathaway ได้เริ่มทยอยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและอาจพิจารณาซื้อเพิ่ม รวมถึง Goldman Sachs ,Morgan Stanley และ JPMorgan ก็เริ่มแนะนำให้ลูกค้าเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สะท้อนว่าสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ ยังคงมั่นใจในคุณภาพของตราสารหนี้สหรัฐฯ และมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ที่ระดับ 4% น่าจะเข้าใกล้จุดสูงสุด ซึ่งตรงกับช่วงที่ตลาดคาดว่า Fed จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยตั้งแต่เดือน ก.ย. นี้เป็นต้นไป นับว่าเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการทยอยเข้าซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ

     จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้พอจะสรุปได้ว่า การที่สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับเครดิต ทั้งในส่วนของ ตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Issuer Default Rating-IDR) และ ธุรกิจธนาคาร น่าจะมีผลกระทบระยะสั้น และค่อนข้างจำกัด หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสามารถเติบโตเพียงพอต่อความสามารถในการชำระหนี้ ตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง กำไรบริษัทจดทะเบียนยังคงสามารถเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งเรามองว่าจังหวะนี้เป็นโอกาสที่ดีในการทยอยเข้าซื้อสินทรัพย์ที่ราคาปรับตัวลงมาแรงจากความกังวล โดยเฉพาะหุ้นที่มีรายได้และกำไรเติบโตแข็งแกร่งในดัชนี NASDAQ100 ที่ปรับตัวลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับดัชนีหลักอื่นๆ หรือ ตราสารหนี้สหรัฐฯ คุณภาพดี ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงเมื่อเทียบกับความเสี่ยง และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคากรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมีทิศทางเป็นขาลงอีกด้วย  

 


ที่มา: Bloomberg, Bank of America, CNBC, CME Group

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว