ความหวังยังมี !? : ท่าทีของบริษัทเอกชนจุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน

ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันทางการค้า ความขัดแย้งประเด็นไต้หวัน ประเด็นบอลลูนสอดแนม ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะอยู่ในระดับต่ำที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งภายในระยะเวลาอันสั้นความขัดแย้งของทั้ง 2 ประเทศคงจะยากที่จะแก้ปัญหาในทุกด้านพร้อมกันและฟื้นความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดียังถือว่ามีบางภาคส่วนที่ 2 ประเทศมหาอำนาจของโลกยังคงจะต้องประคับคองความสัมพันธ์ระหว่างกัน อาทิ ในภาคธุรกิจที่บางบริษัทของสหรัฐ ฯ ยังคงมีจีนเป็นที่ตั้งโรงงานการผลิต และ ประชากรจีนจำนวนกว่า 1,400 ล้านคนยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการบริโภคเกินกว่าที่บริษัทเอกชนสหรัฐ ฯ จะสามารถมองข้ามได้
โดยการแสดงท่าทีของทางการจีนเอง ก็ดูเหมือนว่าพร้อมที่จะสนับสนุนบริษัทเอกชนของสหรัฐ ฯ โดยเฉพาะการขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนาย Li Qiang ที่มีประวัติการทำงานโดดเด่นในด้านการสนับสนุนภาคเอกชนและการลงทุนจากต่างประเทศ
นอกจากนี้นาย Qin Gang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของจีนยังได้กล่าวในงานสัมมนา “China Development Forum” โดยระบุว่าสหรัฐฯกับจีนยังคงมีความสัมพันธ์ระหว่างกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันได้ ซึ่งนโยบาย “Made in China” และ “Made in US” ของทั้ง 2 ประเทศไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำให้มีแต่เพียงผู้แพ้หรือผู้ชนะแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น พร้อมกันนั้นนาย Qin Gang ยังได้ยกตัวอย่างกรณีบริษัทเอกชนของทั้ง 2 ประเทศที่มีโรงงานการผลิตตั้งอยู่ข้ามประเทศกัน อาทิ Tesla ที่มีโรงงานผลิตรถยนต์ Gigafactory ตั้งอยูในนครเซี่ยงไฮ้ประเทศจีน และหากอิงจากตัวเลขการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โรงงานของ Tesla ในเซี่ยงไฮ้สามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 74,000 คัน คิดเป็นการผลิตรถยนต์ได้หนึ่งคันในทุก ๆ 45 วินาที และในอีกฝากฝั่งหนึ่งของโลกที่เมือง Ohio ประเทษสหรัฐอเมริกา โรงงานของบริษัท Fuyao Glass ที่ได้รับฉายาว่าเป็นราชาผู้ผลิตกระจกของจีนได้สร้างงานในท้องถิ่นกว่า 2,000 ตำแหน่ง และหากนับรวมบริษัทที่เป็น supply chain ในการผลิตทั้งหมดจะมีการจ้างงานรวมกันกว่า 6,000 ตำแหน่ง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทเป็นกรณีศึกษาที่นาย Qin Gang เชื่อว่าสหรัฐฯและจีนยังสามารถมีความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นได้
โดยที่ล่าสุดบริษัท Tesla ก็พึ่งได้ประกาศว่าจะก่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ในประเทศจีน เพื่อผลิตแบตเตอรี่ Megapacks ที่ใช้ในการกักเก็บพลังงานไว้ขายให้กับบริษัทด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ ทั่วโลก โดยคาดว่าโรงงานแห่งใหม่ในจีนนี้จะสามารถผลิตแบตเตอรี่ Megapacks ได้ถึงราว 10,000 ชุดต่อปี
ด้าน Apple อีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ฯ ซึ่งในช่วงหลังดูเหมือนว่าจะเริ่มมีข่าวว่าต้องการกระจายฐานกำลังการผลิตออกไปจากจีน เนื่องจากความขัดแย้งของทั้ง 2 ชาติที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการปิดโรงงานผลิตชิ้นส่วนในจีนสืบเนื่องจากมาตรการ Lockdown ในช่วงนโยบาย Zero COVID ก็ดูเหมือนจะกลับมาแสดงท่าทีว่ายังคงให้ความสำคัญกับประเทศจีนอีกครั้ง โดยที่ Tim Cook CEO ของบริษัทพึ่งจะเดินทางไปร่วมประชุม “China Development Forum” ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และยังได้กล่าวชื่นชมนวัตกรรมต่าง ๆ ของจีน รวมถึงกล่าวว่า Apple จะช่วยลงทุนเพื่อการสนับสนุนการศึกษาในชนบทของจีนด้วยวงเงินกว่า 100 ล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ ฯ
โดยที่ในงาน “China Development Forum” นอกจาก Tim Cook CEO ของ Apple จะเดินทางไปเข้าร่วมงานแล้ว ยังมี CEO บริษัทของสหรัฐ ฯ เข้าร่วมงานอีกหลายคน อาทิ นาย Cristiano Amon CEO ของบริษัท Quallcomm , นาย Albert Bourla CEO ของบริษัท Pfizer และ นาย Ray Dalio นักลงทุนชื่อดังผู้ก่อตั้ง Hedge fund Bridgewater Asscoiates ซึ่งเป็นเหมือนการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่าภาคเอกชนของสหรัฐฯ ยังจะไม่ตัดความสัมพันธ์กับจีน ถึงแม้จะเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลก็ตาม
ส่วนท่าทีและจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐ ฯ หลังจากนี้น่าจะยังไม่เปลี่ยนแปลง คือการแสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีนไม่ว่าผลการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ ในช่วงปลายปีหน้าจะออกมาเป็นเช่นไร เนื่องจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน ต่างก็น่าจะใช้นโยบายหาเสียงด้วยการโจมตีอีกฝ่ายว่ามีท่าทีอ่อนแอต่อจีนมากกว่าพรรคตนเอง
ต่างจากรัฐบาลจีนชุดใหม่ ที่ได้แต่งตั้งนาน Qin Gang อดีตเอกอัครราชฑูตจีนประจำสหรัฐฯอเมริกา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นการแสดงท่าทีว่าต้องการฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐ ฯ ให้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่ได้เลวร้ายลงเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับภาคเอกชนเองคงไม่มีบริษัทใดของทั้ง 2 ชาติที่ต้องการความขัดแย้งและส่งผลกระทบต่อธุรกิจของตัวเอง โดยที่นาย Qin Gang เชื่อว่าอย่างน้อยสหรัฐฯ และจีนจะสามารถหาทางสร้างความสัมพันธ์ในส่วนที่ยังสามารถประสบความสำเร็จร่วมกันและร่วมกันพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความขัดแย้งกันได้ และการลงทุนในภาคเอกชนที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่ทั้ง 2 ชาติเห็นว่าเป็นความมั่นคงของประเทศน่าจะยังเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทั้ง 2 ชาติมหาอำนาจของโลกจะยังคงไม่ถึงขั้นแตกหักกันอย่างสิ้นเชิง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน
รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว