/
/
/
/
แลกเงินเยนด่วน! แบงค์ชาติญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณ

แลกเงินเยนด่วน! แบงค์ชาติญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณ

     ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) เป็นธนาคารกลางของประเทศพัฒนาแล้วเพียงแห่งเดียวที่ยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ถึงแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดความผันผวนและหลายประเทศต้องเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อจนทำให้บรรดาธนาคารกลางของชาติอื่น ๆ ต่างพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ จนกระทั่ง ณ ปัจจุบัน ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มที่จะกลับทิศดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาลงหลังจากเงินเฟ้อเริ่มลดความรุนแรงลง

     ในทางกลับกัน BoJ ยังคงดำเนินนโยบายการเงินเช่นเดิม ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำของ BoJ ถือเป็นการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายเป็นพิเศษ(Ultra-loose monetary policy) ติดต่อกันเป็นปีที่ 8 แล้วหลังจากที่มีการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยเชิงผ่อนคลายเป็นพิเศษครั้งแรกตั้งแต่ปี 2016 เพื่อกระตุ้นการบริการโภคภายในประเทศ หลังประสบกับภาวะเงินฝืดมากว่า 20 ปี

BoJ เริ่มส่งสัญญาณยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ

     แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบของ BoJ น่าจะเริ่มใกล้ถึงจุดสิ้นสุด เมื่อนาย Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้ออกมากล่าวว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังจะเผชิญกับสถานการณ์ที่ท้าท้ายมากขึ้นในช่วงสิ้นปี 2023 และต้นปี 2024 ซึ่งธนาคารกลางญี่ปุ่นยังมีอีกหลายทางเลือกในการกำหนดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย หากยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ ขณะเดียวกัน Ryozo Himino รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้ออกมาส่งสัญญาณใกล้ยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบเช่นเดียวกัน

      โดย Ryozo Himino ได้สรุปผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากญี่ปุ่นยกเลิกการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ว่าถ้าหากมีการกลับมาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับในปี 2007 อาจไม่มีผลกระทบรุนแรงและไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายฝ่ายกังวล ซึ่งคาดว่าภาคครัวเรือนจะได้รับประโยชน์จากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ด้วยรายได้สุทธิ (Net Income) ที่จะปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจจะได้รับผลกระทบที่จำกัด เนื่องจากบางภาคธุรกิจจะได้ประโยชน์จากการปรับเพิ่มของราคาสินค้า หรือที่เรียกกันว่า วงจร “Wages-Prices Cycle” อีกทั้งยังมองว่าระบบการเงินญี่ปุ่นมีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

     การแสดงมุมมองของผู้นำธนาคารกลางญี่ปุ่นทั้ง 2 ท่าน ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีมุมมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจพิจารณาเริ่มยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือ ส่งสัญญาณใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในเร็วๆ นี้ โดยการออกมาส่งสัญญาณจากทั้ง 2 คนส่งผลให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นมากว่า 3.6% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มส่งออก กดดันให้ดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวลดลงในช่วงที่มีการออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว

แต่คาดว่า BoJ อาจยังไม่ยุติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมสัปดาห์หน้า

     ในการประชุมครั้งล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้เน้นย้ำว่าจะนำตัวเลขเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณาในการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวกับอุปสงค์ภายในประเทศ เงินเฟ้อ และค่าจ้าง เป็นหลัก ซึ่งล่าสุดตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ก็ออกมาหดตัว -2.9% YoY แย่กว่าที่คาดไว้แต่มากกว่าการประกาศรอบก่อนหน้า การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในเดือน ต.ค. หดตัว -2.5% YoY ส่วนตัวเลขเงินเฟ้อ CPI เดือน ต.ค. อยู่ที่ 3.3% YoY และ Core CPI อยู่ที่ 2.9% YoY ขณะที่ด้านค่าจ้างงานเฉลี่ย (Average Cash Earnings) เดือน ต.ค. ขยายตัว 1.5% YoY แต่ตัวเลขค่าจ้างที่แท้จริง (Real Cash Earnings) ยังคงหดตัว -2.3% YoY ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 โดยข้อมูลทั้งหมดนี้สะท้อนว่าอุปสงค์ในประเทศญี่ปุ่นยังคงไม่แข็งแรง และอาจเป็นความเสี่ยงหาก BoJ มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเร็วเกินไป

     TISCO ESU (TISCO Economic Strategy Unit) มีมุมมองว่าทาง BoJ จะยังไม่เปลี่ยนแปลงการดำเนินนโยบายการเงินในการประชุมสัปดาห์หน้า (18 – 19 ธ.ค.) เนื่องด้วยจำเป็นที่จะต้องรอสัญญาณความชัดเจนในการปรับขึ้นค่าแรงประจำปีก่อน (Shunto Wage Negotiation) ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. 2024 โดยตัวเลขค่าจ้างงานเฉลี่ย (Average Cash Earnings) ล่าสุดยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่อดีตผู้ว่าฯ BoJ เคยระบุไว้ที่ระดับ 3% ซึ่งคาดว่าการเติบโตของค่าจ้างในระดับดังกล่าวจะเป็นระดับที่ทำให้เงินเฟ้อบรรลุเป้าหมายที่ระดับ 2% ได้อย่างยั่งยืน จึงคาดว่า BoJ น่าจะเริ่มมีการกลับทิศนโยบายในปีหน้าหลังจากที่มีความชัดเจนในเรื่องการปรับตัวเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อน

     โดยสรุปแล้วเรามองว่า BoJ จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% ในการ สัปดาห์หน้าแต่คาดว่า BoJ อาจให้มุมมองและแนวโน้มในการดำเนินนโยบายที่มีความเข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า ซึ่งนั่นก็น่าจะเพียงพอแล้วที่ทำให้ค่าเงินเยนมีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อ ประกอบกับการที่ Fed เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนว่าอาจจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้ค่าเงินเยนจะกลับทิศอย่างต่อเนื่อง และการที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมักจะเคลื่อนไหวสวนทางกับค่าเงินเยน รวมถึงผลตอบแทนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 28% แล้วในปีนี้ ทำให้นักลงทุนที่จะลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงระยะเวลาต่อจากนี้

ที่มา: Bloomberg, TISCO ESU, Goldman Sachs Research

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว

Scroll to Top
บริการออนไลน์
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนรวม

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องและตรงกับความสนใจของท่าน โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก