
หลังจากที่เศรษฐกิจจีนมีการเติบโตชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งจากการฟื้นตัวของการบริโภคที่ช้ากว่าคาดหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ สงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รวมถึงการที่ตลาดหุ้นจีนเผชิญกับความผันผวนและปัจจัยกดดันต่างๆ ส่งผลให้รัฐบาลจีนได้มีการออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายรูปแบบ เช่น การออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ และการลดภาษีอากรแสตมป์สำหรับการซื้อขายหุ้น เป็นต้น ขณะที่ทางธนาคารกลางจีน (PBoC) มีการปรับลดสัดส่วนการถือครองเงินสกุลต่างประเทศในเงินทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์ (FX-RRR) อัดฉีดสภาพคล่อง รวมถึงยังได้ประกาศลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) และลดอัตราดอกเบี้ยเกือบทุกประเภท
โดยสามารถสรุปมาตรการต่างๆ ตั้งแต่เดือนส.ค. จนถึงปัจจุบันได้ตามตารางด้านล่างนี้

โดยมาตรการล่าสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม ทางกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของจีน (China’s Sovereign Wealth Fund) ยังได้มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นธนาคารขนาดใหญ่ของจีนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2015 โดยบริษัท Central Huijin Investment Ltd. ซึ่งเป็นของรัฐบาลจีน ได้เข้าซื้อหุ้น 4 ธนาคารใหญ่ของจีน (Bank of China Ltd., Agricultural Bank of China Ltd., China Construction Bank Corp. และ Industrial and Commercial Bank of China Ltd.) ในมูลค่า $65 million นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนเหล่านี้เพิ่มเติมอีกในช่วง 6 เดือนข้างหน้า เป็นการส่งสัญญาณว่าทางการจีนกำลังพยายามสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในตลาดหุ้นด้วย

ผลของการออกมาตรการและนโยบายจากทางรัฐบาลจีนและธนาคารกลางเริ่มเห็นผลในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เปิดเผยล่าสุดส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดดังนี้
- GDP Growth : ทางการจีนรายงานตัวเลข GDP Growth ในไตรมาสที่ 3/2023 ออกมาเติบโตอยู่ที่ระดับ 4.9% YoY สูงกว่าที่ตลาดคาดการ์ไว้ที่ระดับ 4.4% YoY และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าเติบโต 1.3% QoQ ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 1.0% QoQ เช่นกัน
- Industrial Production : ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. ออกมาอยู่ที่ระดับ 4.5% YoY สูงกว่าที่คาดไว้ที่ระดับ 4.3% YoY
- Retail Sales : ตัวเลขยอดค้าปลีกของจีนเดือน ก.ย. รายงานออกมาขยายตัว 5.5% YoY ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.9% YoY และสูงกว่าในเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.6% YoY
- Fixed Asset Investment (YTD) : การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเดือน ก.ย. มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% YoY (ในช่วง 9 เดือนแรกของปี) ต่ำกว่าที่คาดเพียงเล็กน้อยที่ระดับ 3.2% YoY
- Unemployment : ตัวเลขการว่างงานของจีนในเดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 5% ซึ่งต่ำกว่าในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 5.2%
- Export-Import : ยอดส่งออกเดือน ก.ย. หดตัวน้อยลงที่ -6.2% YoY จาก -8.8% YoY ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งดีกว่าตลาดคาดที่จะหดตัว -8.0% YoY จากการส่งอกสินค้าไปยังประเทศคู่ค้าหลักฟื้นตัวขึ้นในหลายประเทศ ส่วนยอดนำเข้าหดตัวน้อยลงที่ -6.2% YoY ในเดือน ก.ย. จาก -7.3% YoY เดือนก่อน ใกล้เคียงตลาดคาดที่ -6.3% YoY

จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศออกมา ประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องการบริโภคของจีนที่ยังคงสามารถขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ได้ สะท้อนผ่านตัวเลขย้อนค้าปลีกที่ฟื้นตัว และยอดการออมเงินที่ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นว่าประชาชนจีนมีการนำเงินออกมาใช้จ่ายมากขึ้น แม้ว่าตลาดจะยังคงมีความกังวลใน ภาคอสังหาฯ จากตัวเลข Property Activity ที่ยังคงหดตัว แต่ทางการจีนยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในภาคอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดอัตราส่วนเงินดาวน์และลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเริ่มส่งผลให้เห็นผ่านยอดขายอสังหาฯ ที่เริ่มมีการหดตัวน้อยลง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องรอติดตามมาตรการเพิ่มเติมจากทางภาครัฐและธนาคารกลางจีนต่อไป
การรายงานข้อมูลตัวเลขที่ออกมาสูงกว่าคาดส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งมีการปรับประมาณการ GDP ในปี 2023 ของจีนเพิ่มขึ้น โดย Nomura ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% (เดิม 4.8%), JPMorgan ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.2% (เดิม 5.0%), Moody’s ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5% (เดิม 4.9%), และ UBS ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.2% (เดิม 4.8%)
การฟื้นตัวดีขึ้นของตัวเลขเศรษฐกิจจีนในหลายภาคส่วน แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ที่ GDP ของจีนในปี 2023 จะเติบโตไปได้ถึงเป้าหมายที่ 5% และคาดว่าทางการจีนอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก เพื่อให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ตามที่ได้ประกาศไว้ ซึ่งถ้าหากรัฐบาลมีการออกมาตรการเพิ่มเติม น่าจะช่วยส่งเสริมให้ตลาดหุ้นจีนสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นตามทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว
ที่มา : Bloomberg, Reuters, UBS Research, CNBC, TISCO ESU