โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล รวมถึงความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอีกทั้งกระบวนการทางธุรกิจมีความซับซ้อน จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะขั้นสูง ซึ่งมนุษย์อาจมีขีดจำกัดด้านศักยภาพในการทำงาน และเทคโนโลยีแบบเดิม อาจไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่สามารถพึ่งพาเพียงแค่เทคโนโลยีแบบเดิมในการทำธุรกิจได้อีก จึงมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการต่อยอดและพัฒนาธุรกิจ ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการตลาด เช่น
· Customer Service (ด้านบริการลูกค้า) โดยหัวใจสำคัญของการบริการลูกค้า คือ การสื่อสาร ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นงานที่ต้องใช้มนุษย์เป็นหลัก แต่หลังจากมีเทคโนโลยี AI ทำให้มีการคิดค้นและพัฒนา Chatbot ขึ้นมา เพื่อช่วยในการสื่อสารและสนับสนุนการให้บริการลูกค้า โดยสามารถพูดคุยโต้ตอบกับลูกค้าแบบอัตโนมัติได้ตลอด 24 ชั่วโมง
· Logistic (การจัดส่งสินค้า), จัดการคลังสินค้า มีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงาน โดยมีการใช้งาน Robotics ในภาคการผลิต และมีการใช้รถขนส่งสินค้าแบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ AI ในการวางแผนการจราจรและเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสม อีกทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาคลังสินค้า ด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูลในคลังสินค้า โดย Morgan Stanley ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2024 จะมีรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติ วิ่งบนท้องถนนในสหรัฐฯ มากกว่าร้อยคัน าดช่วยลดต้นทุนการขนส่ง 25%-30% ต่อไมล์ และในท้ายที่สุดอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คนขับรถอีกต่อไป
· Personalized Marketing (การตลาดเฉพาะบุคคล) ในปัจจุบันภาคธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้ามากขึ้น ซึ่งหากแบรนด์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในระดับบุคคลแล้ว รวมถึงสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ และโปรโมชั่นต่างๆ ได้ถูกกลุ่มเป้าหมาย ถูกที่และถูกเวลา จะเป็นการช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและกระตุ้นยอดขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
AI ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่มนุษย์ถูกลดบทบาทลง
นักวิเคราะห์ มีมุมมองว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอาจทำให้มีการลดจำนวนคนที่ใช้ในการะบวนการต่างๆ ลง จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาห่วงโซ่อุปทานโลกเผชิญกับการปัญหาการหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าและชิ้นส่วนประกอบต่างๆ รวมทั้งยังเกิดความล่าช้าในการขนส่ง และปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังถูกซ้ำเติมอีกรอบจากผลกระทบของการเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ปัญหาขยายเป็นวงกว้าง และยากที่จะรับมือ ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เห็นจุดบกพร่องของกระบวนการเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนา AI เพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจวิธีการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างเช่น ตรวจสอบและประเมินได้ว่ารถบรรทุกขนส่งคันไหนจำเป็นที่จะต้องมีการซ่อมแซมหรือต้องมีการบำรุงรักษา นอกจากนี้ยังช่วยประมวลผลเพื่อหาช่องทางในการจัดส่งสินค้าที่เหมาะสมมากที่สุด และยังสามารถติดตามสถานะการจัดส่งแบบ Real-Time ได้
ตัวอย่างบริษัท ที่ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ที่ได้มีการนำ AI มาใช้ คือ Maersk ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในผู้ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์และสายการเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Maersk ได้มีการนำ AI เข้ามาใช้ในกระบวนการขนส่งสินค้า และวางแผนที่จะพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการต่างๆ ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้ใช้ AI ในการสร้าง Predictive Cargo Arrival Model ในการคาดการณ์การมาถึงของสินค้า และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังสามารถใช้ AI เพื่อช่วยในการประเมินช่วงเวลาในการส่งออกสินค้าที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการจัดส่งสินค้า การจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งในท้ายที่สุดจะช่วยให้ต้นทุนลดลง นอกจากนี้ Maersk ยังใช้ AI ประเภท Large Language Model เพื่อช่วยในการจำแนก จดจำ สรุป ข้อมูลที่ถูกรวบรวมมา อย่างเช่น การทำธุรกรรมของลูกค้าในปีที่ผ่านมา ศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าจากข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อดูจุดที่อาจเกิดปัญหา และนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาเหล่านั้น เพื่อหาแนวทางแก้ไขหรือนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
กลุ่มธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากการมาของ AI
การมาของ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้หลายบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องได้รับประโยชน์กันอย่างแพร่หลาย อย่างเช่น Microsoft ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีการลงทุนใน AI มาตั้งแต่ในช่วงแรกเริ่ม ถือเป็นบริษัทที่มีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในทศวรรษที่ผ่านมา Microsoft เติบโตมาจาก ธุรกิจ Cloud และหลังจากนี้เราเชื่อว่าการเปิดตัวของ ChatGPT จะเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ของบริษัท ซึ่งเป็นยุคที่ AI แทรกซึมเข้ามาในกิจกรรมมนุษย์มากขึ้น โดย ChatGPT ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากใช้เวลาเพียง 2 เดือนเท่านั้น ในการมีผู้ใช้งานครบ 100 ล้านคน ทำลายสถิติแพลตฟอร์มชื่อดังอย่าง Tiktok ที่เคยทำไว้ 9 เดือน
อีกกลุ่มบริษัทที่ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน คือ กลุ่มบริษัทที่ผลิตชิปสำหรับ AI อย่าง NVIDIA ซึ่งรายได้ส่วนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Data Center ของบริษัท โดยในไตรมาสล่าสุดเติบโตมากถึง +14% YoY ขณะที่รายได้ส่วนอื่นหดตัวลง ซึ่ง Microsoft และ Google ผู้นำด้าน Chatbot AI ก็เป็นลูกค้าของ NVIDIA ทั้งคู่ ด้วยกระแสของ AI ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทมีการปรับตัวพุ่งสูงขึ้นและกลายเป็นบริษัทผลิตชิปรายแรกที่มี Market Capital แตะที่ระดับ $1 Trillion โดย Global X มีการคาดการณ์ถึงเม็ดเงินที่จะใช้จ่ายในเครื่องประมวลผลสำหรับ AI บน Cloud และ Data Centers อยู่ที่ระดับ $38 Billion ในปี 2026 เพิ่มขึ้นถึง +245% นับตั้งแต่ปี 2022 ทั้งนี้ เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลที่มีมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้ของผู้ผลิต Chip ให้เติบโตได้ต่อเนื่องในระยะข้าง
AI เข้ามามีบทบาทต่อโลกในยุคปัจจุบันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นหลังจากนี้ อาจมีบางอาชีพที่หายไป หรือ บางอาชีพเกิดขึ้นใหม่ โดย AI ได้รับการพัฒนาต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์เฉพาะด้านมากมายในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนของกระบวนการและข้อมูล ช่วยให้มีความซับซ้อนที่ลดลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเราเชื่อว่าการมาของ ChatGPT จาก Microsoft เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของยุค AI อย่างแท้จริง ที่จะช่วยผลักดันให้มีการใช้งานหลากหลายขึ้น เข้าถึงผู้คนมากขึ้น และจะเป็นแรงหนุนให้ภาพรวมอุตสาหกรรมเติบโตไปได้อีกไกลในระยะข้างหน้า
ที่มา: Bloomberg, Global x ETF, CNBC