สัปดาห์นี้ เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความโกลาหลครั้งใหญ่ขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ และสร้างความประหลาดใจแก่ประชาคมโลกเป็นอย่างมาก โดยเหตุการณ์นี้เริ่มมาจากการที่นาย Yoon Suk Yeol ปธน.เกาหลีใต้ ได้ประกาศกฎอัยการศึก ในช่วงค่ำของวันที่ 3 ธ.ค. ซึ่งถือเป็นการประกาศกฎอัยการศึกครั้งแรกนับตั้งแต่เกาหลีใต้ได้รับประชาธิปไตยเต็มรูปแบบเมื่อกว่า 40 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี กฎอัยการศึกดังกล่าวได้ถูกยกเลิกภายในระยะเวลาประมาณ 6 ชม. ต่อมา ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรงและการลงมติเป็นเอกฉันท์ในรัฐสภาที่โหวตคัดค้านกฎอัยการศึกดังกล่าว
ถึงแม้เหตุการณ์โกลาหลในครั้งนี้จะเกิดขึ้นและจบอย่างรวดเร็ว แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างความกังวลและส่งผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์ทั่วโลก ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงเบื้องหลังของความโกลาหลในครั้งนี้ ว่าเกิดจากอะไร และเกิดผลกระทบอะไรบ้าง รวมทั้งหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อ
ประวัติและเส้นทางการขึ้นสู่อำนาจของ Yoon Suk Yeol
Yoon Suk Yeol อายุ 63 ปี เกิดในวันที่ 19 ธ.ค. 1960 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ปธน.เกาหลีใต้คนที่ 13 นับตั้งแต่ปี 2022 โดยก่อนที่ Yoon จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง Yoon เคยเป็นอดีตอัยการสูงสุดที่โด่งดังในระดับประเทศจากการสืบสวนการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐบาลในสมัยของประธานาธิบดี Moon Jae-in ซึ่งหลังจากที่จบคดีดังกล่าว นาย Yoon ได้ลาออกจากตำแหน่งในปี 2021 และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนพรรคอนุรักษ์นิยม (People Power Party) และลงชิงตำแหน่ง ปธน. เกาหลีใต้ในปี 2022 และได้รับชัยชนะไปด้วยคะแนนเสียงที่สูงกว่าคู่แข่งเพียง 0.73% ซึ่งเป็นการได้รับชัยชนะด้วยคะแนนที่เฉียดฉิวที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศเกาหลีใต้
การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นาย Yoon ได้ทำการถ่ายทอดสดผ่านทางช่องทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ โดย ประกาศกฎอัยการศึกเต็มรูปแบบ เพื่อปกป้องเสรีภาพและความสงบเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่ากลุ่มฝ่ายค้านในรัฐสภากำลังพยายามทำให้ฝ่ายบริหารของรัฐบาลเป็นอัมพาตและกำลังทำให้ความแตกแยกทางการเมืองทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งยังมีจุดมุ่งหมายที่จะหยุดกิจกรรมทางการเมือง ห้ามการหยุดงานของกลุ่มแรงงาน และควบคุมสื่อในประเทศด้วย
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สาเหตุจริงที่นาย Yoon ประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองที่ตัวเขาตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างหนัก ตั้งแต่เริ่มดำรงตำแหน่ง เนื่องจากถึงแม้นาย Yoon จะจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จแต่ก็เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองของเกาหลีใต้มีมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ฝ่ายค้านได้ทำการขัดขวางแผนงบประมาณประจำปีที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ และเสนอให้มีการลดงบประมาณลง ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ Yoon ต้องการ นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังขู่ที่จะถอดถอนสมาชิกรัฐบาลของ Yoon และพยายามสอบสวนเขาและภริยา ในเรื่องต่างๆ โดยตั้งข้อกล่าวหาในเรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งไปจนถึงเรื่องอื่นๆ
เหตุใดกฎอัยการศึกถึงถูกยกเลิกในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง?
หลังจากที่นาย Yoon ประกาศกฎอัยการศึกไม่นาน ก็ได้รับกระแสต่อต้านและการแสดงความไม่พอใจจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกพรรครัฐบาลบางส่วน โดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติของเกาหลีได้ทำการรวมตัวกันและจัดการประชุมสมัชชาแห่งชาติเกาหลีใต้อย่างทันทีเพื่อลงมติคัดค้านกฎอัยการศึกที่ออกมา โดยมีผลมติคัดค้านด้วยคะแนนเสียง 190:0 เสียง (มีผู้เข้าร่วมประชุม 190 คนจาก 300 คน) จึงทำให้ นาย Yoon ต้องยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น
ผลกระทบและมาตรการรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ถึงแม้เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจยังไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง สะท้อนผ่านการปรับตัวลงของดัชนี KOSPI ที่ -1.44% และการอ่อนค่าของค่าเงินวอน ทั้งนี้ทางรัฐบาลและธนาคารกลางต่างมีการออกมาตรการเพื่อรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลได้ประกาศเตรียมเม็ดเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องมูลค่า 10 trillion won (7 billion USD) สำหรับตลาดหุ้น และ 40 trillion won (28 billion USD) สำหรับตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) ก็ได้แถลงเตรียมจัดหาเงินกู้พิเศษเพื่ออัดฉีดเงินทุนเข้าสู่ตลาดหากจำเป็น และพร้อมจะใช้มาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินเช่นกัน
จะเกิดอะไรขึ้นต่อ?
ล่าสุดทางพรรคฝ่ายค้านทั้ง 6 พรรคของเกาหลีใต้ ได้เตรียมยื่นมติข้อเสนอถอดถอน นาย Yoon ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง โดยให้เหตุผลว่าก่อกบฏ ตามการเรียกร้องของประชาชนที่เริ่มมีการหยุดงานประท้วงจนกว่านาย Yoon จะออกจากตำแหน่ง โดยการพ้นสภาพของนาย Yoon มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ 1.ลาออกเอง 2. ถูกยื่นมติถอดถอน ซึ่งไม่ว่าจะเกิดแบบไหน ทางเกาหลีใต้ก็จำเป็นต้องทำการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วันนับตั้งแต่ ปธน. ถูกปลด โดยระหว่างก่อนเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรักษาการแทน
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการพ้นตำแหน่งของนาย Yoon น่าจะมาจากการยื่นมติถอดถอนซึ่งจำเป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกในรัฐสภา และผ่านการพิจารณาอนุมัติจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน โดยกระบวนการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะเสร็จสิ้น ซึ่งอาจสร้างความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้
นอกจากนี้ พรรคที่คาดว่าจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ปธน. เกาหลีใต้ครั้งใหม่คาดว่าน่าจะมาจากกลุ่มฝ่ายค้าน และน่าจะใช้นโยบายที่สวนทางกับนโยบายปัจจุบัน โดยเฉพาะนโยบายการต่างประเทศที่เน้นความเป็นกลางและพยายามรักษาความสัมพันธ์กับทุกฝ่าย ทำให้รัฐบาลชุดใหม่นี้มีโอกาสกลับไปให้ความสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น และพยายามหาทางร่วมมือกับเกาหลีเหนือ ซึ่งจะแตกต่างกับรัฐบาลปัจจุบันที่ต่อต้านการสานสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ออกห่างจากจีนและมีความร่วมมือทางทหารกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงให้ความช่วยเหลือยูเครนอย่างมาก ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปีหน้า
ถึงแม้สถานการณ์ความโกลาหลที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ในครั้งนี้จะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองของเกาหลีใต้น่าจะยังคงอยู่ไปอีกสักระยะใหญ่ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ทำให้ในช่วงประเด็นดังกล่าวยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดการเงินเกาหลีใต้
Source : Bloomberg, Financial Times, CNBC