เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลงแรง จากประเด็นความกังวลหลายด้าน อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจถดถอยหลังตัวเลขแรงงานล่าสุดออกมาอ่อนแอ รวมทั้งยังมีประเด็นเรื่อง Yen Carry Trade Unwind (ลดสถานะเงินเยนที่กู้ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อไปซื้อสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ BoJ มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเหตุการณ์ในครั้งนี้ ได้ถูกเรียกว่า “Black Monday” เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันจันทร์ และตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลงแรงเหมือนเหตุการณ์ Black Monday ในวันที่ 19 ต.ค. 1987 ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลงแรงในวันจันทร์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ราคาดัชนีตลาดหุ้นมีการฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วในวันอังคาร เนื่องจากนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าการปรับตัวลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เป็นการ Overreaction (ตอบสนองมากเกินไป) รวมทั้งมองว่าระดับราคาที่ปรับตัวลงมาทำให้หุ้นหลายกลุ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้กลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI และ Semiconductors
ซึ่งการฟื้นตัวกลับอย่างรวดเร็วในครั้งนี้ ได้สะท้อนให้เห็นว่าช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง ไม่ใช่เป็นจังหวะที่เราต้องรีบทำการขายหุ้นออกเพียงอย่างเดียว แต่ในทางกลับกันอาจเป็นจังหวะหรือโอกาสสำคัญครั้งหนึ่งในการเข้าลงทุนเพิ่มเติมด้วยซ้ำ โดยในบทความนี้จะมาอธิบายให้ฟังว่าหากผู้ลงทุนเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ที่ตลาดปรับตัวลงแรงอีกครั้ง ควรทำอย่างไร
1. ทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามาจากสาเหตุอะไร
หากศึกษาจากกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุด การปรับตัวลงในรอบนี้มีปัจจัยหลักมาจากเรื่อง 1. ความกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และ 2. ประเด็น Yen Carry Trade Unwind ซึ่งในช่วงแรกที่ตลาดปรับตัวลง นักลงทุนส่วนใหญ่ก็อาจประเมินว่าประเด็นทั้งสองข้างต้นอาจทำให้เกิดวิกฤตทางการเงิน จึงทำให้มีแรงเทขายออกมาจำนวนมาก อย่างไรก็ดีหากเราได้ทำการเจาะลึกข้อมูลเพิ่มเติม เช่น
ในประเด็นแรก ตลาดได้มีการรับรู้ผ่านราคาไปพอสมควรแล้ว ผ่านประมาณการการลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย. ที่คาดว่าจะปรับลด 0.5% อย่างไรก็ตามตลาดมองว่าถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะมีความเสี่ยงถดถอย แต่ก็ไม่น่าเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ และหากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาหลังจากนี้ยังคงออกมาแข็งแกร่ง ก็อาจทำให้โอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยลดลง และอาจเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น
ส่วนด้านประเด็น Yen Carry Trade Unwind ซึ่งเรามองว่าเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นครั้งนี้ปรับตัวลงแรง ก็เริ่มผ่อนคลายลง หลัง Shinichi Uchida รองผู้ว่า BoJ ได้ออกมาระบุว่า BoJ จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ หากตลาดเงินและตลาดทุนยังไม่มีเสถียรภาพ และล่าสุด JPMorgan ประเมินว่า กว่า 75% ของการ Carry Trade ได้ปิดสถานะไปเรียบร้อยแล้ว จึงพอจะประเมินได้ว่าประเด็นนี้อาจมีผลกระทบน้อยลงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากยังมีโอกาสส่งผลกระทบต่อเนื่องได้อีก
หลังจากที่ได้ทำการเจาะลึกข้อมูลเหล่านี้เพิ่มเติม ก็อาจทำให้ผู้ทุนเริ่มผ่อนคลายความกังวลต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน และเริ่มประเมินใหม่ว่าอาจไม่ได้เกิดวิกฤตทางการเงิน แต่อาจเป็นเพียงการ Overreaction ของตลาดก็ได้ และอาจพิจารณาว่าจุดนี้เป็นโอกาสในการลงทุนเพิ่มครั้งสำคัญก็เป็นได้
2. ทบทวนความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน
หลังจากที่พิจารณาสภาพตลาดแล้ว ขั้นต่อไปก็ต้องกลับมาพิจารณาสถานการณ์พอร์ตการลงทุนของตนเองก่อนว่า ด้วยสภาวะตลาดปัจจุบัน ควรพิจารณาปรับพอร์ตอย่างไรต่อ รวมทั้งทบทวนระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนในปัจจุบันว่าเหมาะกับผู้ลงทุนหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณา ได้แก่ ความสบายใจของผู้ลงทุน ความสามารถในการรับผลขาดทุน ระดับความเสี่ยงของพอร์ต และระยะเวลาในการลงทุน เป็นต้น
อย่างในช่วงที่ผ่านมา ผู้ลงทุนส่วนใหญ่อาจมีความกล้าที่จะลงทุนสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่มีการปรับตัวขึ้นแรง แต่พอตลาดเริ่มปรับตัวลงแรงกลับเริ่มมีความกังวลเกิดขึ้น นั้นอาจแสดงให้เห็นว่า ผู้ลงทุนอาจรับความเสี่ยงสูงไม่ได้อย่างที่คิด การวางแผนกลยุทธ์การลงทุนหลังจากนี้ก็ควรพิจารณาปรับลดระดับความเสี่ยงของพอร์ตให้เข้ากับระดับความเสี่ยงที่แท้จริงที่ตนรับได้ เพื่อลดความกังวลและความตื่นตระหนกของผู้ลงทุน หากตลาดมีการปรับตัวลงแรงอีกครั้งในอนาคต
3. หาหุ้นกลุ่มที่ระดับราคาปรับลงมาในระดับที่เหมาะสมหรือตลาดที่เป็นโอกาสเข้าลงทุน
นับตั้งแต่ในอดีต ช่วงที่ตลาดมีการปรับตัวลงแรง ไม่ได้เป็นเพียงช่วงที่ทำให้นักลงทุนตื่นตระหนกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ลงทุน ที่จะได้เข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าถูกลง เนื่องจากทุกครั้งที่ตลาดปรับตัวลงแรง มักทำให้สินทรัพย์ที่เคยมีมูลค่าสูงในสายตาผู้ลงทุน มีมูลค่าถูกลงหรือมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น
เช่นในรอบนี้ Valuation ของหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มองว่าแพง
ก็มีมูลค่าที่ถูกลง ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกลุ่มเหล่านี้ยังคงแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตอีกมาก ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนเหลือใช้สำหรับการลงทุน ก็อาจใช้โอกาสดังกล่าวในการเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นเทคฯ เพิ่มเติมได้
โดยสรุปแล้ว ช่วงที่ตลาดปรับตัวลงแรง ผู้ลงทุนควรมีการวิเคราะห์และพิจารณาปัจจัยต่างๆ อาทิ การทบทวนตลาด และ การประเมินความเสี่ยงพอร์ต อย่างถี่ถ้วน ก่อนที่จะตัดสินใจรีบขายหนี เนื่องจากไม่ใช่ทุกครั้งที่ตลาดปรับตัวลงแรงแล้วจะเกิดวิกฤต หรือจำเป็นต้องรีบขายออก แต่จังหวะดังกล่าวอาจเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าถูกก็เป็นไปได้
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตลาดจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว แต่ประเด็นความกังวลเรื่องที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอยและ Yen Carry Trade Unwind ก็ยังคงอยู่ และยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ด้วยเหตุนี้การลงทุนในช่วงนี้จึงยังคงต้องระมัดระวังและพยายามเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความสามารถเติบโตในระยะยาวและมีปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง เช่น หุ้นกลุ่มเทคฯ ขนาดใหญ่ หรือหุ้นโลกที่มีคุณภาพ เป็นหลัก
Source: Bloomberg