/
/
/
/
สรุปเหตุการณ์ ภาษี Trump ป่วนโลก ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สรุปเหตุการณ์ ภาษี Trump ป่วนโลก ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนอย่างรุนแรง หลังจากประธานาธิบดี Donald Trump ประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าใหม่ โดยเริ่มจากการกำหนด “ภาษีนำเข้าขั้นต่ำ” (Baseline Tariff) สำหรับสินค้าทุกประเภทที่นำเข้าจากต่างประเทศ และเสริมด้วยมาตรการ “ภาษีตอบโต้” (Reciprocal Tariffs) ที่จะจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากภาษีนำเข้าขั้นต่ำในกรณีที่ประเทศคู่ค้าตั้งกำแพงภาษีสูงเกินควรต่อสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ 75 ประเทศทั่วโลก

หลังการแถลงของ Trump รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ Scott Bessent ออกมาเตือนว่า ประเทศที่ถูกเรียกเก็บภาษีไม่ควรตอบโต้กลับ เพราะอัตราภาษีที่ประกาศจะถือเป็นระดับสูงสุดแล้ว พร้อมย้ำว่าสหรัฐฯ ยินดีเปิดโต๊ะเจรจากับทุกประเทศที่พร้อมหารือด้านการค้าอย่างจริงจัง

จีนตอบโต้กลับมาตรการภาษีของ Trump 

แม้หลายประเทศเลือกใช้แนวทางเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง แต่จีนกลับเลือกตอบโต้เต็มรูปแบบ โดยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มอีก 34% ซึ่งเมื่อรวมกับอัตราภาษีเดิมที่ 20% ทำให้อัตราภาษีนำเข้ารวมพุ่งขึ้นเป็น 54% ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ของจีนยังเตรียมออกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุหายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี เช่น ชิปคอมพิวเตอร์และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงขึ้นบัญชีดำบริษัทอเมริกันเพิ่มอีก 27 แห่ง และอาจขัดขวางข้อตกลงการขายกิจการ TikTok ให้บริษัทสหรัฐฯ

ต่อมาในช่วงกลางสัปดาห์ สถานการณ์ยิ่งทวีความตึงเครียด เมื่อ Trump ประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนอีก 50% ทำให้อัตราภาษีรวมของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนพุ่งเป็น 104% โดยมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 9 เม.ย ด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรง โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน นาย Lin Jian ระบุว่าการกระทำของสหรัฐฯ เป็น “ความผิดพลาดที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก” พร้อมประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มจาก 34% เป็น 84% ในวันที่ 10 เม.ย

และเพื่อรับมือกับการที่ถูกสหรัฐ ฯ ขึ้นภาษี จีนยังดำเนินนโยบายด้านการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราอ้างอิงของเงินหยวนอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อควบคุมค่าเงินไม่ให้อ่อนค่ามากเกินไปและยังรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศ

การขึ้นภาษีครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นผลกระทบเชิงลบมากกว่า และชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

จากการสำรวจของ Reuters/Ipsos ที่รวบรวมความเห็นระหว่างวันที่ 4 – 6 เม.ย. ทั้งจากกลุ่มประชาชนชาวอเมริกัน และจากสมาชิกพรรคการเมือง พบว่า 57% ของชาวอเมริกัน ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีศุลกากร และมีเพียง 39% ของชาวอเมริกัน เห็นด้วยกับการปรับขึ้นภาษี ขณะที่ในส่วนของความเห็นของสมาชิกพรรค Republican ซึ่งเป็นพรรคของปธน.Trump พบว่า 73% ของสมาชิก สนับสนุนนโยบายภาษีศุลกากร แต่ก็มี 24% ของสมาชิก ที่ไม่เห็นด้วย และ ประณามการเคลื่อนไหวของ Trump ในครั้งนี้ ส่วนพรรคกลุ่มอิสระ (ไม่สังกัดพรรค) มีแนวโน้มเอนเอียงไปทางคัดค้านมากกว่าคือ ไม่เห็นด้วย 57% และมีส่วนที่เห็นด้วย 41%

นโยบายการเก็บภาษีตอบโต้ของ Trump ยังได้ถูกโจมตีจากหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นการออกมาประท้วงของผู้ชุมนุมใน 50 มลรัฐ หรือแม้กระทั่งมหาเศรษฐีหลายคนที่เป็นผู้บริจาคให้กับพรรครีพับลิกัน ก็ออกมากล่าวโจมตีนโยบายนี้ด้วย อย่างเช่น Ken Langone ผู้ร่วมก่อตั้ง Home Depot ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินให้กับแคมเปญของพรรค Republican มาอย่างยาวนาน ออกมาวิจารณ์มาตรการภาษีของ Trump ว่าไร้เหตุผล และมาตรการที่ออกมานั้นรุนแรงเกินไป และเร็วเกินไป

นอกจากนี้ Jamie Dimon CEO ของ JPMorgan Chase ยังได้ออกมาเตือนว่ามาตรการปรับขึ้นอัตราภาษีนั้นจะส่งผลต่อความไม่แน่นอนในหลายปัจจัย ทั้งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนทั่วโลก ความผันผวนของสกุลเงินดอลลาร์ และกำไรของบริษัทต่างๆ อีกทั้งจะเป็นการเร่งการปรับเพิ่มขึ้นราคาของทั้งสินค้านำเข้าและสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ จากต้นทุนที่ปรับขึ้นและความต้องการสินค้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการฉุดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ลงมากกว่าเดิม

และยังมี Bill Ackman นักลงทุนชื่อดังผู้บริหารของ Pershing Square Capital Management หนึ่งในผู้สนับสนุนคนสำคัญของ Trump ได้แสดงความกังวลต่อแผนการเก็บภาษีตอบโต้ของ Trump โดยแม้จะเห็นด้วยกับเป้าหมายในการแก้ไขความไม่เป็นธรรมทางการค้า แต่ Ackman เตือนว่าการดำเนินการอย่างเร่งรีบอาจนำไปสู่ “ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะถดถอยอย่างรุนแรง” และนโยบายภาษีตอบโต้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก เขาเสนอให้ชะลอการใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 30–90 วันเพื่อเปิดทางให้มีการเจรจา พร้อมย้ำว่าแม้จะเคารพในความสำเร็จของ Trump แต่นโยบายนี้อาจกลายเป็นความผิดพลาดร้ายแรง

Trump ประกาศยืดระยะเวลาเก็บภาษีตอบโต้ แต่เก็บภาษีจีนเพิ่ม

โดยหลังจากที่ได้รับแรงกดดันจากหลายฝ่าย รวมถึงความกังวลจากการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีความเสี่ยงว่ามาจากการเทขายพันธบัตรจากประเทศที่ถือครองในสัดส่วนที่สูงอย่างจีนและญี่ปุ่น ส่งผลให้ Trump ได้เปลี่ยนท่าที โดยประกาศเลื่อนการเก็บภาษีตอบโต้กับ 75 ประเทศออกไปอีก 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาทางการค้า แต่ยังคงบังคับใช้ภาษีนำเข้าทั่วโลกที่อัตรา 10% ต่อไป แต่สำหรับจีน Trump ยังยืนยันขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเป็น 125% โดยมีผลทันที และในวันที่ 10 เม.ย ได้ประกาศขึ้นภาษีจากจีนอีกเป็น 145% พร้อมให้เหตุผลว่า จีนไม่ได้สกัดกั้นการส่งออกยาเฟนทานิลที่กำลังแพร่ระบาดในสหรัฐฯ

ความเคลื่อนไหวของตลาดหลัง Trump ยืดระยะเวลาเก็บภาษ90 วัน

หลังจาก Trump ประกาศเลื่อนระยะเวลาเก็บภาษีตอบโต้หลายประเทศออกไปอีก 90 วัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็กลับมาปรับตัวขึ้นได้อย่างแรงภายใน 1 วัน โดยดัชนี S&P 500 +9.52%, ดัชนี NASDAQ +12.16%, ดัชนี Down jones +7.87% ด้านตลาดหุ้นอื่นๆ อาทิ ตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี Euro Stoxx 50 ก็ปรับขึ้น +4.26% และแม้กระทั้งตลาดหุ้นเอเชียหลายๆ ตลาด ก็ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นนำโดยตลาดหุ้นไต้หวัน ดัชนี TWSE +9.25%, ตลาดหุ้นญี่ปุ่นดัชนี Nikkei 225 +9.13% และตลาดหุ้นเวียดนาม ดัชนี VNI +6.77% เป็นต้น

อย่างไรก็ดี วันต่อมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับพลิกกลับมาปรับตัวลดลงอีกครั้ง หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มเติม ทำให้ตลาดกลับมากังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หากสหรัฐฯ และจีนยังคงใช้มาตการภาษีตอบโต้กันไปมาเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

แม้ว่าสหรัฐฯ จะตัดสินใจยืดระยะเวลาการเก็บภาษีตอบโต้กับประเทศต่างๆ ออกไป แต่สถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน กลับมีความตึงเครียดมากขึ้น และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ยังคงสร้างความกังวลต่อตลาดอยู่ หลังจากนี้ยังคงรอติดตามผลการเจรจาของประเทศต่างๆ กับสหรัฐฯ และ ความเคลื่อนไหวของจีนและสหรัฐหลังจากนี้อย่างใกล้ชิด

ที่มา : Bloomberg, BCC, CNBC, CNN, Reuters, South China Morning Post, Yahoo Financial

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว

Scroll to Top
บริการออนไลน์
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
กองทุนรวม

เว็บไซต์นี้มีการจัดเก็บคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องและตรงกับความสนใจของท่าน โดยท่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก นโยบายการใช้คุกกี้ กรุณากดยอมรับเพื่อยินยอมให้เราใช้คุกกี้

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้ที่จำเป็น

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

บันทึก