สัปดาห์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งสัปดาห์ที่ทางธนาคารกลางหลายแห่งได้มีการจัดประชุมเกี่ยวกับทิศทางในการดำเนินนโยบายทางการเงิน โดยการประชุมของธนาคารที่ได้รับความสนใจสูงสุดคือ การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยในการประชุม Fed ครั้งนี้ ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็นสัญญาณของจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง
Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% ซึ่งถือเป็นการลดดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี
ในการประชุม Fed เมื่อวันพุธที่ 18 กันยายนที่ผ่านมาคณะกรรมการ Fed มีมติ 11 ต่อ 1 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ สู่ระดับ 4.75% – 5% ซึ่งเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หลังจากที่ Fed เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2022 ต่อเนื่องจนถึงเดือนกรกฎาคม 2023 และหลังจากนั้น Fed ได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5% – 5.25% มาโดยตลอด
มุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า (Dot Plot)
ด้านผลการคาดการณ์ทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในระยะยาว หรือ Dot plot ซึ่งแสดงให้เห็นความเห็นของเหล่าคณะกรรมการ Fed ซึ่งมองว่าอัตราดอกเบี้ยปลายปีน่าจะอยู่ที่ระดับ 4.4% หรือ ปรับลดอีก 0.5% ซึ่งเป็นมุมมองที่ Dovish ขึ้น เมื่อเทียบการให้ความเห็นผ่าน Dot plot ครั้งล่าสุดในการประชุมเดือนมิถุนายน ด้านมุมมองดอกเบี้ยในปี 2025 มองว่าดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 3.4% หรือลดอีก 1% น้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.5%
การประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ด้านประมาณการณ์เศรษฐกิจ Fed ได้มีการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) ตัวเลข GDP โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2024 ว่าจะเติบโตได้ที่ 2% YoY ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนมิถุนายน ที่ 2.1% YoY อีกทั้งยังคาดว่าในปี 2025, 2026 การเติบโตของเศรษฐกิจจะคงอยู่ที่ระดับเท่าเดิมที่ 2% เท่าเดิม
2) ตัวเลขอัตราการว่างงาน ในปีนี้ปรับขึ้นเป็น 4.4% จากก่อนหน้านี้ที่ 4% , ปี 2025 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.4% จากเดิมที่ 4.2% , ปี 2026 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% จากเดิมที่ 4.1%
3) ตัวเลขเงินเฟ้อ ปรับคาดการณ์ Core PCE ปีนี้ลงจาก 2.8% มาเหลือ 2.6%, ปี 2025 ปรับลงจาก 2.3% มาเป็น 2.2%, ปี 2026 คงเดิมที่ 2.0% โดย ทางคณะกรรมการ Fed มีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า เงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
หลังจากการประชุมประธาน Fed นาย Jerome Powell ได้ออกมาแถลงให้ความเห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดแรงงาน และ ป้องกันเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน และเปิดเผยมุมมองต่อตัวเลข Nonfarm payroll ว่าตัวเลขที่รายงานออกมากเกินความเป็นจริง อย่างไรก็ดี Powell ไม่ได้ระบุชัดเจนถึงการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งต่อๆ ไป แต่ย้ำว่าการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลในระยะข้างหน้าเป็นหลัก
ในวันที่มีการรายงานผลการประชุม Fed ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นระหว่างวัน ก่อนที่กลับลงมาปิดลบเล็กน้อย จากความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมาตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นและปิดบวกได้อีกครั้ง โดยดัชนี S&P500 และ ดัชนี Down Jones ขึ้นไปทำระดับสูงเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่มีการรายงานตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกออกมาต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด อีกทั้งด้านธนาคารยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ หลายสถาบันยังออกมาแสดงมุมมองถึงการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่าจะลดเพิ่มอีก 0.5% – 0.75% ซึ่งใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดที่ 0.75% (อ้างอิงจาก CME Fed Watch Tool As of 20 Sep 2024) แต่มากกว่า Fed Dot Plot ที่มองว่าจะปรับลดเพียง 0.5%
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ และมุมมองแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในอนาคต ถือเป็นปัจจัยบวกหนุนให้ตลาดหุ้นสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวประเด็นเรื่องของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยหลังจากนี้นักลงทุนยังคงต้องติดตามการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานและตัวเลขเงินเฟ้อที่น่าจะบ่งชี้ได้เป็นอย่างดีว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่เหลือของปีนี้
Source: Bloomberg, CNBC, Federal