ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2022 ซึ่งมีปัจจัยหนุนหลักมาจากการเข้าซื้อทองคำของจีนจากทั้งในฝั่งของภาครัฐและเอกชน หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวลงต่ำแตะระดับ 1,600 ดอลลาร์/ออนซ์ กดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของ Fed เนื่องจากเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ราคาทองคำยังได้รับปัจจัยหนุนจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกลางอีกด้วย แม้ว่าแรงหนุนจากเข้าซื้อทองคำของจีนจะชะลอลงในระยะหลัง แต่ในปี 2024 ทองคำกลับมามีหลายปัจจัยหนุนให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่หลายต่อหลายครั้ง
โดยล่าสุดราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,500 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งถือเป็นการทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 แล้วในปีนี้ โดยมีปัจจัยหนุนหลักดังนี้
ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์กลับมาทวีความรุนแรง
ในปี 2024 ความขัดแย้งในหลายพื้นที่ยังคงดำเนินต่อ ในฝั่งของการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซียมีการขยายตัวออกไปในหลายพื้นที่ จากการที่ต่างฝ่ายต่างเพิ่มกำลังทหารและใช้เทคโนโลยีทางการทหารขั้นสูง ส่งผลให้การสู้รบทวีความรุนแรงมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งและสงครามในตะวันออกกลาง เป็นอีกสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดมากขึ้น และถูกเป็นที่จับตาไปทั่วโลก โดยความรุนแรงกลับมาเริ่มทวีเข้มข้นขึ้นอีกครั้ง ในช่วงต้นปี 2024 หลังจากที่ทางกลุ่มกบฏฮูตี ที่เป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮามาส ได้ทำการโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางการเดินเรือที่สำคัญของโลก และทางอิสราเอลกับฮามาสต่างฝ่ายต่างกลับมาทำการโจมตีทางอากาศและทางบกอีกครั้ง จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มีแรงเข้าซื้อทองในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หนุนให้ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้น
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า จากโอกาสที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ย
อีกปัจจัยหนุนหลักสำคัญมาจากค่าเงินดอลลาร์มีการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในช่วงกลางปี เนื่องจาก Fed ได้เริ่มออกมาส่งสัญญาณในการผ่อนคลายนโยบายการเงินในรอบการประชุมเดือน ก.ค. หลังจากเงินเฟ้อชะลอลงต่อเนื่อง รวมถึงตลาดแรงงานที่เริ่มสิ่งสัญญาณแผ่วลง
ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงต้นเดือน ส.ค. สหรัฐฯรายงานตัวเลขการจ้างงานที่ออกมาชะลอตัวลงต่อเนื่อง และตัวเลขอัตราการว่างงานที่ออกมาสูงถึงระดับ 4.3% ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในปีนี้ ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มโอกาสที่ Fed จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยในเดือน ก.ย.นี้ มากขึ้น อีกทั้งรายงานการประชุม FOMC Minutes ล่าสุด ก็ยังระบุอีกว่าคณะกรรมการส่วนใหญ่ มีความเห็นตรงกันที่จะปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือน ก.ย.
แนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของ Fed ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) มีทิศทางปรับลดลง ส่งผลให้สินทรัพย์ที่นักลงทุนมักใช้ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ อย่างเช่น ทองคำ มีความน่าสนใจในการลงทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล สะท้อนไปยังราคาทองคำที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา
ธนาคารกลางจีนได้กลับมาอนุมัติโควตาการนำเข้าทองคำใหม่
จีนมีการนำเข้าทองคำอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ในเดือน พ.ย. ปี 2022 ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นกับสหรัฐฯ รวมถึงสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้จีนพยายามที่จะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (De-dollarization) ให้น้อยลง ผ่านการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพยายามซื้อทองคำเป็นทุนสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากสถานการณ์ความตึงเครียดกับสหรัฐฯ ถูกยกระดับ
อย่างไรก็ตาม ทางการจีนมีการชะลอการเข้าซื้อทองคำและมีการหยุดเข้าซื้อทองคำในเดือนพ.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ซึ่งนักวิเคราะห์และตลาดคาดการณ์ว่ามีสาเหตุมาจากการที่ราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยราคาทองคำในช่วงเดือน ก.พ. 2024 – พ.ค 2024 ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงประมาณ 13% แต่ล่าสุด มีการรายงานว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งของจีนได้รับโควตานำเข้าทองคำใหม่จากธนาคารกลางอีกครั้งหลังจากที่มีการหยุดซื้อไป 3 เดือน (พ.ค. – ก.ค.)
แม้ว่าราคาทองคำจะอยู่ในระดับสูงแล้ว แต่ทางนักวิเคราะห์ยังมองว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อได้ หนุนจากทั้งประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะดำเนินต่อไป อีกทั้งการกลับเข้ามาซื้อทองคำของจีน และแนวโน้มในการปรับลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงเป็นปัจจัยหลักหนุนราคาทองคำ
โดยทางนักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์จากสถาบัน BMI Research ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจคาดว่า เมื่อ Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจหนุนให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 2,700 ดอลลาร์/ออนซ์ ภายในเดือน ก.ย. และทางนักวิเคราะห์จาก Citi Bank คาดว่าในไตรมาส 4 ทองคำจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2,550 ดอลลาร์/ออนซ์ และคาดว่าจะขึ้นไปแตะที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ในช่วงกลางปี 2025
ที่มา: CNBC, Bloomberg, Reuters