นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024 เป็นต้นมา ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลง -8.03% (ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2567) ต่อเนื่องจากในปี 2023 ที่ดัชนี SET Index ก็ได้ปรับลดลงถึง -15.2% ซึ่งตลาดหุ้นไทยถือเป็นตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดแห่งนึงในโลก สวนทางกับทิศทางของตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ ที่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นในปีนี้ เช่น ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น +21% และดัชนี Nikkei 225 ปรับตัวเพิ่มขึ้น +18.18%
โดยสาเหตุที่ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากปัจจัยกดดันหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น, อัตราดอกเบี้ยสูงที่ส่งผลให้สภาพคล่องในประเทศลดลง, และเศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ชะลอลงทั้งจากการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้ารวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้มีความพยายามที่จะออกมาตรการในการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยปรับปรุงเงื่อนไขกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ใหม่เพื่อให้มีความน่าสนใจและดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนได้มากขึ้น
โดยกระทรวงการคลังคาดว่า การปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG จะช่วยหนุนการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนี SET Index ได้ รวมถึงในระยะยาวการลงทุนในกองทุน Thai ESG ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่ให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งเป็นหุ้นที่มีศักยภาพในการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีความเสี่ยงต่ำจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล จะช่วยให้ตลาดหุ้นไทยเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนมากขึ้น
โดยการปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG มีรายละเอียดดังต่อไปนี้:
- สิทธิลดหย่อนภาษีที่เพิ่มขึ้น:สามารถลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน โดยเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท เป็นไม่เกิน 300,000 บาท
- ระยะเวลาถือครองที่สั้นลง: ลดระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุน5 ปีเต็ม นับจากวันที่ซื้อ จากเดิมที่ 8 ปี
- นโยบายลงทุนเพิ่มเติม: ต้องลงทุนมากกว่า80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ซึ่งลงทุนหุ้นใน 1.) ให้เพิ่มลงทุนในหุ้นที่ได้ระดับการประเมิน CG Rating ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และมีการเปิดเผยข้อมูลด้านบรรษัทภิบาล (G) ตามที่ ก.ล.ต. กำหนด จากเดิมที่ลงทุนในหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET/ MAI โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม หรือเปิดเผยข้อมูลก๊าซเรือนกระจก ) ESG Bond 3.) Green Token
โดยหลังจากปรับเงื่อนไขใหม่สิ่งที่กองทุน Thai ESG มีความคล้ายกับกองทุน LTF ก็คือช่วงระยะเวลาการถือครอง โดยการลงทุนใน LTF (เงื่อนไขล่าสุด) มีเงื่อนไขการถือครอง 7 ปีปฏิทินใกล้เคียงกับเงื่อนไขใหม่ของกองทุน Thai ESG ที่ 5 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการปรับเงื่อนไขเพิ่มเติมของกองทุน Thai ESG คาดว่าช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการสภาพคล่องในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และการที่ปรับวงเงินลดหย่อนเพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด 300,000 บาท ยังน่าจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินของนักลงทุนที่ต้องการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยนายพิชัย ชุณหวชิร (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน) คาว่าจะมีเม็ดเงินที่จะเข้ามาในกองทุน Thai ESG เพิ่มขึ้นประมาณ 30,000 ล้านบาท ในปีนี้
ซึ่งจากสถิติในอดีตพบว่าผลตอบแทนของ SET Index ในช่วงที่ยังมีกองทุน LTF ซึ่งเป็นกองทุนยอดนิยมในอดีต นั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 193.8% ในช่วงระหว่างเดือน สิงหาคมปี 2004 ถึง 31 ธันวาคมปี 2019 , และหากแบ่งช่วงระยะเวลาเป็นสองช่วงที่มีการปรับเงื่อนไขการถือครองพบว่าในช่วงระยะเวลาที่ LTF มีเงื่อนไขการถือครอง 5 ปีปฏิทิน ระหว่างปี 2004 -2015 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 139.5% และในช่วงระหว่างปี 2016-2019 ที่ LTF มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขถือครองเพิ่มขึ้นเป็น 7 ปีปฏิทิน SET Index ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ราว 22.7%
อย่างไรก็ดีสุดท้ายแล้ว เงื่อนไขใหม่ของกองทุน Thai ESG จะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าน่าจะรู้ผลภายในไม่เกิน 2 สัปดาห์นี้ ซึ่งหากการปรับปรุงเงื่อนไขกองทุน Thai ESG เกิดขึ้นจริง ก็น่าจะสามารถช่วยให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง โดยย้อนกลับไปในอดีตช่วงที่ยังมีกองทุน LTF เดิม หากตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรงเมื่อไหร่ มักจะมีเม็ดเงินจากองทุน LTF คอยช่วยหนุนให้ตลาดฟื้นตัวขึ้นได้หรือไม่ได้ปรับลดลงแรงมากนัก ซึ่งหลังจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็หวังว่ากองทุน Thai ESG โฉมใหม่จะเข้ามารับบทบาทหน้าที่ในการพยุงตลาดหุ้นไทยได้เหมือนกับที่กองทุน LTF เคยทำ
Source: SET, SEC, AIMC, Morningstar Thailand