เข้าสู่เดือนแห่งการเริ่มต้นปีใหม่ เดือนมกราคมมักเป็นช่วงเวลาที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาสถานการณ์และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการลงทุนให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดปัจจุบัน
โดยในเดือนมกราคม 2025 นี้ มีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากมีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจากครั้งก่อนๆ ในอดีต
ในบทความนี้ เราจะพูดถึง 3 ปัจจัยที่นักลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิดในเดือนมกราคม 2025 ไม่ว่าจะเป็นการประชุม Fed, การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่, และผลประกอบการของกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ สำหรับไตรมาสล่าสุด ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อทิศทางการลงทุน และเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง
การประชุม Fed เดือนมกราคม 2025
การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีขึ้นในวันที่ 28-29 มกราคม 2025 ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญที่นักลงทุนควรจับตามอง ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และยังรอคอยการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยตลอดทั้งปีนี้ว่าจะมีทิศทางอย่างไร
ทั้งนี้ ในการประชุม Fed ครั้งล่าสุดในเดือนธันวาคม 2024 ที่ผ่านมา Fed ได้ส่งสัญญาณ Hawkish Cut คือถึงแม้จะมีการปรับลดดอกเบี้ย แต่ส่งสัญญาณในเชิง Hawkish ออกมา
ซึ่งในการดำเนินนโยบายการเงินสำหรับปี 2025 โดยปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงินต่อจากนี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ตัว เงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ
โดยล่าสุด สหรัฐฯได้รายงานตัวเลขเศรษฐกิจออกมา หลายตัวเลข โดยมีรายงานตัวเลข ISM ภาคการบริการ เดือน ธ.ค. ที่ออกมา 54.1 จุด ดีกว่าตลาดคาด รวมถึงมีรายงานตัวเลขดัชนีราคา (prices-paid index) ออกมา 64.4 จุด สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคบริการยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง
นอกจากนี้ มีตัวเลขตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ (JOLTs) เดือน พ.ย. รายงานออกมา 8.1 ล้าน ตำแหน่ง ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 6 เดือน บ่งชี้ว่าภาคธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดรับสมัครพนักงานมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการ ขณะที่อัตราการปลดพนักงาน ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ อย่างไรก็ดี นักลงทุนเริ่มกลับมากังวลว่าเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง จากเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง และตลาดแรงงานยังคงมีเสถียรภาพ ซึ่งการตัดสินใจของ Fed ในครั้งนี้ก็อาจส่งผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั่วโลกอีกด้วย
การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา รัฐสภาสหรัฐฯ ได้รับรองนาย Donald Trump ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2024 อย่างเป็นทาง และในวันที่ 20 มกราคม 2025 นาย Donald Trump จะทำการสาบานจนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งนับว่าเป็นการกลับมารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯสมัยที่ 2 ของนาย Donald Trump
โดยเหตุผลที่การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯของนาย Donald Trump อย่างเป็นทางการ จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในนโยบายเศรษฐกิจหลายด้าน คือการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีน รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ
นอกจากนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของนาย Donald Trump ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งในสัปดาห์นี้ นาย Donald Trump ก็ยังได้ประกาศแผนการลงทุนที่จะสร้างศูนย์ข้อมูลใหม่ในหลายภูมิภาคในสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาการเติบโตด้าน AI และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นผ่านการสร้างงานในภาคก่อสร้าง รวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี นักลงทุนต่างก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของนาย Donald Trump ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ย Fed ในปี 2025 ที่อาจน้อยกว่าที่ตลาดคาดไว้ในตอนแรก ซึ่งไม่ว่านาย Donald Trump จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสหรัฐฯในรูปแบบไหน ก็ยังคงมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และตลาดการเงินอย่างมีนัยยะสำคัญ
ผลการดำเนินงานหุ้นกลุ่มธนาคารในสหรัฐฯ
ผลการดำเนินงานของกลุ่มการเงินในสหรัฐฯ จะเริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสล่าสุดในช่วงกลางถึงปลายเดือนมกราคม 2025 ซึ่งจะเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และในช่วงของปี 2025 เป็นช่วงที่ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เริ่มเป็นทิศทางขาลงอย่างชัดเจน ซึ่งนักลงทุนน่าจะเริ่มเห็นภาพของศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการผลการดำเนินงานได้ดีมากน้อยเพียงใดต่อจากนี้
โดยในช่วงปี 2024 ที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานของธนาคารใหญ่ในสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของภาคการเงินในสหรัฐฯ ถึงแม้ในช่วงก่อนหน้านี้กลุ่มภาคเงินได้เผชิญกับความท้าทายจากช่วงภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น แต่ผลการดำเนินงานกลุ่มก็ยังฟื้นตัวได้ดี
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายสถาบันคาดว่ากลุ่มธนาคารสหรัฐฯจะรายงานกำไรที่แข็งแกร่ง แต่อาจมีการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยผลประกอบการของภาคการเงินจะสะท้อนถึงคุณภาพสินเชื่อ, การเติบโตของเงินฝาก, และความสามารถในการทำกำไรภายใต้สภาวะตลาดปัจจุบัน
โดยทั้ง 3 ปัจจัยสำคัญนี้ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่อาจกำหนดทิศทางของโลกการลงทุนในตลอดทั้งปีนี้ ซึ่งผลลัพธ์ของทั้ง 3 เหตุการณ์จะออกมาเป็นอย่างไร จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
Source : Bloomberg, Federal Reserve