การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2024 ถือเป็นไฮไลท์สำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจากทิศทางนโยบายการเงินของ Fed จะมีผลสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกและแนวทางการลงทุนในปี 2025
โดยบทความนี้จะสรุปผลการประชุม Fed เดือนธันวาคม 2024, มุมมองของคณะกรรมการ Fed, มุมมองตลาด รวมถึงปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามต่อจากนี้
ผลการประชุม Fed เดือนธันวาคม 2024
ผลการประชุม Fed ในครั้งนี้ คณะกรรมการ Fed ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% สู่ระดับ 4.25%-4.5% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ของปีนี้
โดยผลโหวตในครั้งนี้คณะกรรมการ Fed มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 11:1 โดยมีเพียง Beth Hammack ประธานเจ้าหน้าที่ Fed สาขา Cleveland ที่คัดค้านและโหวตให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม จากความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงกว่าที่ Fed ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2% โดยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 อยู่ที่ 2.7%
อย่างไรก็ดีถึงแม้การปรับลดดอกเบี้ยของ Fed จะเป็นไปตามที่ตลาดคาด แต่สิ่งที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดเกิดคือ สัญญาณจาก Dot Plot ซึ่งคือมุมมองในอนาคตของ Fed ต่ออัตราดอกเบี้ย ที่บ่งชี้ว่า Fed เริ่มมีความระมัดระวังมากขึ้นในการดำเนินดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้ Fed คาดว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยลดลงจากประมาณการเดิมไว้ในเดือนกันยายน 2024 ที่ 4 ครั้ง เหลือเพียง 2 ครั้ง
ซึ่งหากมองในแง่ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเติบโตได้แข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจาก Fed ได้มีการคาดการณ์โดยปรับเพิ่ม GDP ปี 2025 จากเดิมที่ 2.0% เป็น 2.1% แต่ในขณะเดียวกันการปรับลดการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยอาจได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2025 โดยปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 2.1% เป็น 2.5% อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองสหรัฐฯ ต่อจากนี้ จึงส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลว่า Fed อาจจะชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วกว่าที่คาด
การให้ความเห็นของประธาน Fed
Jerome Powell (ประธาน Fed) ได้ปรับคำพูดในการสื่อสารช่วงแถลงข่าวอีกครั้งโดยเน้นย้ำถึงตัวเลขเงินเฟ้อมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ตอนที่ Fed เริ่มลดดอกเบี้ยในช่วงแรก Powell ได้ระบุว่า Fed ให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานมากกว่าตัวเลขเงินเฟ้อ
โดย Jerome Powell ระบุว่า Fed จะพิจารณาลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในกรณีที่เห็นความคืบหน้าในการควบคุมเงินเฟ้อได้เท่านั้น อีกทั้งยังคาดการณ์ว่า Fed อาจจะยังต้องใช้เวลานานขึ้นในการทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งไม่สามารถทำได้มาเกือบ 4 ปีแล้ว
ซึ่งความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจเป็นผลมาจากนโยบายเศรษฐกิจของ Donald Trump (ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเข้มข้น โดยนโยบายดังกล่าว อาจรวมถึง 1.) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐและการลดภาษี 2.) นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้า ที่อาจทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าโดยรวมเพิ่มขึ้น 3.) นโยบายแรงงานโดยการจำกัดการเข้าเมืองซึ่งอาจกดดันต่อค่าแรงที่สูงขึ้น และส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า
โดยนโยบายของ Donald Trump นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพด้านราคาในระยะยาว ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจ
มุมมองตลาด
ภายหลังจากที่ตลาดรับรู้ถึงผลการประชุม Fed รอบล่าสุด รวมถึงแนวคิดของ Fed สำหรับมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินและการคาดการณ์ตัวเงินเฟ้อสำหรับปี 2025 ส่งผลให้ตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน โดย Bond Yield สหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 4.5% และตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้ปรับตัวลดลง ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี
นอกจากนี้ ตลาดได้ปรับลดความคาดหวังต่อการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2025 อย่างมีนัยสำคัญ โดยข้อมูลล่าสุดจาก CME FedWatchTool คาดว่า Fed ปรับลดดอกเบี้ยเหลือเพียง 1 ครั้งเท่านั้นในปี 2025
ปัจจัยที่ต้องติดตาม
ปัจจัยที่นักลงทุนควรต้องติดตามในปี 2025 คือ การประกาศตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และตัวเลขการจ้างงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่บอกถึงทิศทางในการดำเนินดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ต่อจากนี้ ซึ่งจริงๆแล้วหากย้อนกลับไปในอดีต เราจะเห็นได้ว่า Fed ก็มีการเตรียมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยได้ตลอดเวลาตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ
นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของ Donald Trump ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย Fed เช่นกัน
แม้ว่า Fed จะส่งสัญญาณ Hawkish Cut ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2024 ซึ่งสร้างความกังวลว่าการลดดอกเบี้ยในปี 2025 อาจเกิดจะขึ้นเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ดี วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในครั้งนี้น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และวัฏจักรดอกเบี้ยขาลงในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนความเร็วในการปรับลดดอกเบี้ยหลังจากนี้จะมากน้อยแค่ไหนก็จะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมานั่นเอง
Source : Bloomberg, Federal Reserve