ทำไมผู้สูงวัยจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของมิจฉาชีพ?
ข่าวผู้สูงอายุโดนหลอกให้โอนเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตไปให้มิจฉาชีพ เป็นข่าวที่น่าตกใจและสร้างความสะเทือนใจต่อคนในสังคมเป็นอย่างมาก โดยในช่วงหลังมานี้ เราจะเห็นข่าวผู้สูงอายุโดนหลอกมากขึ้นเรือ่ยๆ และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นเงินก้อนโตหลักแสนหลักล้านเลยทีเดียว สาเหตุเพราะผู้สูงวัยเป็นวัยที่มีความเปราะบางทั้งทางร่างกายและจิตใจมากกว่าวัยอื่นๆ โดยมักจะตกใจง่าย ขี้กังวลและเชื่อใจคนง่าย ซึ่งแพทเทิร์นประจำที่มิจฉาชีพใช้หลอกผู้สูงอายุ ก็คือ
1. สร้างความตกใจหรือ ความกลัว
มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ/ หน่วยงานต่างๆ ที่ดูน่าเชื่อถือและสร้างเรื่องให้ผู้สูงอายุตกใจหรือกลัว เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุโอนเงินหรือส่งข้อมูลส่วนตัวที่จะทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงแหล่งเงินของของผู้สูงอายุได้
ตัวอย่างเช่น มิจฉาชีพสวมรอยเป็นเจ้าหน้าที่ DSI โทรแจ้งผู้สูงอายุว่าท่านพัวพันคดีฟอกเงินและสิ่งผิดกฎหมาย และแจ้งให้ผู้สูงอายุโอนเงินในบัญชีทั้งหมดเพื่อทำการตรวจสอบ ผู้สูงอายุตกใจและกลัวความผิดจึงได้ทำการโอนเงินทั้งหมดที่มีไปเข้าบัญชีของมิจฉาชีพ
นอกจากนี้ ก็มีกรณีที่มิจฉาชีพติดต่อเข้ามาแจ้งข่าวเกี่ยวกับครอบครัว เช่น เกิดอุบัติเหตุกับลูกหลาน และให้โอนเงินด่วนเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาล หรือปลอมเสียงเป็นลูกโทรมายืมเงินด่วน เป็นต้น ซึ่งผู้สูงอายุหลายรายตกหลุมพรางนี้ และทำการโอนเงินให้มิจฉาชีพทันทีด้วยความรักและกังวลว่าลูกหลานจะลำบากนั่นเอง
2. ล่อใจด้วยการเสนอผลตอบแทนสูง
มิจฉาชีพหลอกผู้สูงอายุด้วยการนำเสนอการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงปรี๊ด โดยในช่วงแรกจะมีการจ่ายดอกเบี้ยหรือปันผลจริงและตรงเวลา ทำให้ผู้สูงอายุหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ตัวอย่างเช่น มิจฉาชีพสร้างเพจลงทุนปลอม จากนั้น ก็ชักชวนผู้สูงอายุที่ติดตามเพจที่เป็นข้าราชการเกษียณอายุให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นเกี่ยวกับการลงทุนที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นและโอนเงินไปลงทุน ซึ่งในช่วงแรก มิจฉาชีพจะมีการคืนกำไรให้จริง จากนั้น พอผู้สูงอายุเริ่มเชื่อใจ ก็แนะนำให้ลงทุนเพิ่มเรื่อยๆ และในที่สุด มิจฉาชีพก็จะอ้างว่าระบบมีปัญหา ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถถอนเงินออกมาได้และสูญเงินลงทุนไปทั้งหมด
จากตัวอย่างที่ยกมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกลโกงที่ใช้หลอกลวงผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุต้องสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ในบางเคสก็เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าที่ผู้สูงอายุหมดกำลังใจและตัดสินใจจบชีวิตตนเอง
ลูกหลานและคนในครอบครัวควรช่วยกันปกป้องและระวังภัยผู้สูงอายุจากแก๊งมิจฉาชีพด้วยการ
- หมั่นพูดคุย ใส่ใจใกล้ชิด ให้กำลังใจ สอบถามถึงการใช้ชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ในแต่ละวัน และสังเกตว่าผู้สูงอายุมีความกังวลใจ เครียดในเรื่องใดหรือไม่ และหาทางแก้ไขให้เร็วหากมีปัญหาเกิดขึ้น
- เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับการหลอกลวงของมิจฉาชีพให้ผู้สูงอายุฟังด้วยโทนการเล่าแบบสบายๆ และไม่ทำให้ผู้สูงอายุเครียด โดยเน้นย้ำว่าถ้ามีใครชักชวนให้โอนเงิน ยืมเงิน หรือขอข้อมูลส่วนตัวใดๆ ให้ปรึกษาคนในครอบครัวก่อนทุกครั้ง รวมถึงการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนโซเชียล ไม่ว่าจะเป็น วัน เดือน ปี เกิด บัตรประชาชน แชร์สถานที่ที่ไปบ่อยๆ แชร์ที่อยู่แบบสาธารณะ เป็นต้น เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพมีข้อมูลและหาช่องทางในการหลอกลวงเราได้
หากเราเตรียมพร้อมรับมือภัยจากมิจฉาชีพและดูแลผู้สูงอายุภายในบ้านอย่างใกล้ชิด คนที่เรารักและทรัพย์สินของครอบครัวก็จะปลอดภัยจากเล่ห์กลโกงทั้งหลาย แล้วทีนี้ เราก็จะมีความสุขไปด้วยกันทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ