Bingo คุณรู้เรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ดีแค่ไหน
เช็กเลย…เราเซียนเรื่องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพระดับไหน
ใครบ้างที่อยากรู้ว่าตัวเองเป็นเซียน PVD หรือเปล่า ให้ลองตอบคำถามด้านล่างกันดูเลยครับ
1. วัตถุประสงค์ของการออมผ่าน PVD คืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident fund (PVD) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้ใช้หล้งเกษียณ และสามารถเป็นแหล่งเงินที่สำคัญที่จะช่วยประคับประคองชีวิตของเราและครอบครัวในช่วงเวลาวิกฤติอีกด้วย เช่น ในกรณีที่ต้องออกจากงาน ทุพพลภาพ เสียชีวิต เป็นต้น
2. การออมเงิน PVD ได้สูงสุดกี่ % ของค่าจ้าง
การออมผ่าน PVD เป็นการ “ออมก่อนใช้” ด้วยการสะสมเงินเข้า PVD ทันทีทุกครั้งที่เงินเดือนออก แถมยังมีนายจ้างมาช่วยสมทบเงินเข้ากองทุนให้อีกด้วย โดยสมาชิก PVD สามารถออมได้สูงสุดถึง 15% ของค่าจ้าง ใครที่ออมเต็ม Max 15% บอกเลยว่า “เงินเก็บหลักล้าน” อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลยล่ะครับ
3. เงิน PVD นำไปลงทุนในทรัพย์สินอะไรได้บ้าง
ทรัพย์สินหลักๆ ที่ PVD ลงทุนได้ประกอบด้วย เงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ภาครัฐไทย ตราสารหนี้ภาคเอกชนไทย หุ้นไทย ตราสารต่างประเทศ (ตราสารหนี้/ หุ้น) และสินทรัพย์ทางเลือก ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่สูงขึ้นอีกด้วย
4. ควรเลือกทางเลือกการลงทุนใน PVD อย่างไร
เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนที่มีความต้องการและวัตถุประสงค์ในการออมเงินแตกต่างกัน จึงรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ดังนั้น สมาชิก PVD ควรทำ “แบบประเมินความเสี่ยง” เพื่อให้รู้ว่าเราเหมาะกับในการลงทุนแบบใด และช่วยเตือนให้เราไม่ลงทุนเกินระดับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้นั่นเอง
5. สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ PVD มีอะไรบ้าง
การออมใน PVD เป็นตัวช่วยชั้นเลิศในการประหยัดภาษี เพราะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีถึง 3 ต่อ
ต่อที่ 1
เงินสะสมนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ตามจริงสูงสุดถึง 500,000 บาทต่อปี โดยนับรวมเงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ
ต่อที่ 2
ผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนใน PVD ทุกประเภท เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากขายหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีเลยทั้งจำนวน
ต่อที่ 3
เมื่อออกจากงานโดยที่ครบเงื่อนไข อายุตัวครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเป็นสมาชิกกองทุนมาแล้วอย่างน้อย 5 ปีต่อเนื่องกัน (เงื่อนไข 55+5) หรือ ทุพพลภาพ หรือ เสียชีวิต เงิน PVD ไม่ต้องเสียภาษี
6. เมื่อออกจากงาน ต้องจัดการเงิน PVD อย่างไร
- กรณีออกจากงานโดยไม่เข้าเงื่อนไข 55+5
สมาชิกสามารถคงเงินไว้ในกองทุน หรือโอนย้ายเงิน PVD ไปลงทุนต่อที่กองทุน RMF for PVD จนครบเงื่อนไข 55+5 เพื่อได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน - กรณีออกจากงานและเข้าเงื่อนไข 55+5 สามารถเลือกได้ว่าจะคงเงินไว้ในกองทุนทั้งจำนวน หรือทยอยรับเงินเป็นงวดจากกองทุนเป็นงวดคล้ายกับการรับบำนาญ
ทั้งนี้ ระยะเวลาในการคงเงินขึ้นกับเงื่อนไขที่ระบุในข้อบังคับกองทุนของแต่ละนายจ้าง
7. เช็คยอดเงิน PVD ได้ที่ไหน
โดยทั่วไปสมาชิก PVD สามารถเช็กยอดเงินได้จากรายงานเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Individual Statement of Provident Fund Account หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า I-statement นอกจากนี้ ยังสามารถเช็กยอดเงินผ่านช่องทางอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ ได้อีกด้วย
8. กรณีเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์ของเงิน PVD คือ ใคร
- กรณีที่ระบุผู้รับประโยชน์ เงิน PVD จะถูกแบ่งให้ผู้รับประโยชน์ตามสัดส่วนที่ระบุไว้
- กรณีที่ไม่ได้ระบุผู้รับผลประโยชน์ไว้ กฎหมายกำหนดผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับเงิน PVD ตามส่วน ดังนี้
- ลูกได้ 2 ส่วน แต่ถ้ามีลูก 3 คนขึ้นไป ลูกจะได้ 3 ส่วน
- สามีหรือภรรยาได้ 1 ส่วน
- พ่อแม่ หรือ พ่อ หรือ แม่ ที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ 1 ส่วน
- กรณีถ้าไม่มีลูก หรือไม่มีสามี/ภรรยา หรือไม่มีพ่อแม่ หรือว่ามีแต่เสียชีวิตไปก่อนแล้ว เงิน PVD จะก็ถูกแบ่งให้กับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ตาม ข้อ 1. – ข้อ 3. ตามส่วนที่กำหนดไว้ข้างต้น แต่ถ้าไม่เหลือใครตามข้อ 1. – ข้อ 3. รวมทั้งไม่มีทายาทตามกฎหมายแล้วจริงๆ กฎหมายกำหนดให้เงิน PVD ตกเป็นของกองทุนเพื่อจัดสรรให้สมาชิกที่เหลือในกองทุน
เป็นยังไงบ้างครับ ใครตอบได้ทุกข้อ ขอยกตำแหน่ง “เซียน PVD” ตัวจริงให้เลย ที่สำคัญ…อย่าลืมออมเต็ม Max 15% ใน PVD กันด้วย เพื่อนๆ จะได้มีเงินก้อนโตไว้ใช้แล้วก็จะได้มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยครับ
Line Official : @TISCOASSET
Youtube Channel : TISCO Fun(d) Station
Facebook Fanpage : TISCO Asset Management