ตลาดหุ้นจีนฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2022 หลังจากรัฐบาลตัดสินใจยกเลิกนโยบาย Zero COVID และกลับมาเปิดประเทศ แต่หลังจากนั้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนเริ่มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง เป็นเหตุให้นักลงทุนเริ่มมีคำถามว่าเศรษฐกิจจีนจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาเติบโตได้ดีจริง ๆ หรือไม่ โดยสิ่งที่นักลงทุนรอคอยว่าอาจจะสามารถมาช่วยให้ตลาดหุ้นกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนน่าจะออกมาเพื่อทำให้เศรษฐกิจจีนสามารถกลับมาเติบโตได้ตามระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้
ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นมาสิ่งที่นักลงทุนรอคอยก็ได้เกิดขึ้นจริง ๆ โดยธนาคารกลางจีน (PBoC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องทั้ง การประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repo) ระยะ 7 วันลง -10bps เป็น 1.9% เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ซึ่งนับเป็นการปรับลดเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ส.ค. 2022 ตามมาด้วยการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ลง -10 bps เป็น 2.65% เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน และการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์ให้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ลง –10bps เป็น 3.55% เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน
แต่ดูเหมือนว่าการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวจะยังไม่เพียงพอทำให้ตลาดหุ้นจีนกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ โดยในระหว่างวันที่13-21 มิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ดัชนี MSCI China ปรับตัวลดลงราว -1.76% ส่วนดัชนี CSI300 Index เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วหากดูสถิติย้อนหลังในอดีตจะพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายทางด้านการเงินของธนาคารกลางจีนในอดีตอาจไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะเป็นปัจจัยท่ำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ จากสถิติที่จัดทำโดย Goldman Sachs ระบุว่าตั้งแต่ปี 2015-2023 ในช่วงที่ทางการจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยหรือประกาศปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองขั้นต่ำ (RRR) ลง ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 1 เดือนหลังจากนั้น ดัชนี MSCI China ปรับตัวลดลงราว 1% ส่วนดัชนี CSI300 ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 0.8%
นอกจากนี้ Goldman Sachs ยังระบุว่าสถิติในช่วงที่ทางการจีนดำเนินนโยบายเข้มงวดหรือผ่อนคลายทางด้านการเงินอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนของตลาดหุ้นมากนัก โดยช่วงระหว่างปี 2014-ปัจจุบัน ในช่วงที่ทางการจีนดำเนินนโยบายแบบเข้มงวด ดัชนี MSCI China ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยถึง 34% ในทางกลับกันในช่วงเวลาที่ทางการจีนใช้นโยบายผ่อนคลายผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนี MSCI China ลดลงราว -8%
นอกจากนี้ในมุมมองของนักลงทุนสถาบันใหญ่ ๆ ของโลกก็มีมุมมองที่ไม่ดีนักต่อเศรษฐกิจีน โดยต่างก็ออกมาปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ของจีนในปีนี้ลง ถึงแม้ว่าธนาคารกลางจีนจะประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็ตาม อาทิ Goldman Sachs ปรับลดคาดกาณ์ GDP จีนจาก 6.0% เหลือ 5.4% , UBS จาก 5.7% เหลือ 5.2% , Bank of America จาก 6.3% เหลือ 5.7% , JPMorgan จาก 5.9% เหลือ 5.5% และ Nomura จาก 5.5% เหลือ 5.1% ซึ่งส่วนใหญ่มองตรงกันว่าการกระตุ้นผ่านการลดดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวได้ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงอยู่ และการบริโภคในประเทศจากภาคครัวเรือน และการลงทุนในภาคเอกชนยังไม่สามารถฟื้นตัวขึ้นได้หลังจากเผชิญกับมาตรการ Zero COVID มาอย่างยาวนาน
โดยหลังจากนี้สิ่งที่ตลาดต้องการมากกว่าการประกาสลดดอกเบี้ยก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งตรงถึงประชาชนเพื่อทำให้การบริโภคกลับมาเพิ่มมากขึ้นได้ และการลด RRR หรือมาตรการช่วยเหลือในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องมีออกมาอีก
ส่วนประเด็นเดียวที่ดูจะเป็นบวกกับตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้คือความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่หลังจากนาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯเดินทางไปเยือนประเทศจีน และได้เข้าพบกับ ประธานาธิบดี Xi Jinping ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในหมายกำหนดการแต่แรก โดยการเดินทางของ Blinken เลื่อนจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์หลังจากเกิดเหตุการณ์สหรัฐฯยิงบอลลูนสอดแนมของจีนตก และความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ชาติดูเหมือนจะเข้าสู่ภาวะวิกฤติในตอนนั้น อย่างไรก็ดีประเด็นขัดแย้งอื่น ๆ ทั้งประเด็นได้หวัน และ ความขัดแย้งในการแข่งขันกันเป็นผู้นำในเทคโนโลยีขั้นสูงยังคงมีอยู่ แต่อย่างน้อยความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงและปัจจัยกดดันตลาดหุ้นจีนเพิ่มเติมจากประเด็นการเมืองระหว่างประเทศน่าจะยังไม่มีเข้ามาในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้
ส่วนหลังจากนี้ตลาดหุ้นจีนจะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้หรือไม่น่าจะต้องหวังว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรฐกิจเพิ่มเติมออกมาตามที่ตลาดต้องการ และหลังจากนั้นยังต้องรอดูว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาจริง ๆ จะมีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนหรือไม่ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในจีนจะต้องออกมาฟื้นตัวได้ดีจริง ๆเช่นกัน โดยทั้งหมดนี้ถึงดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าในอดีตรัฐบาลจีนพร้อมจะออกมาตรการต่างๆและใช้เครื่องมือทุกอย่างที่มีอย่างเต็มที่ถ้ามีความจำเป็น หากสามารถทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโตถึงเป้าหมายได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน
รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว