หุ้นผันผวน ก๊วน PVD มีเฮ!! ลงทุนไม่ต้องโลเลด้วย DCA
หุ้นผันผวน ก๊วน PVD มีเฮ!! ลงทุนไม่ต้องโลเลด้วย DCA
เวลาจะเอาเงินไปลงทุน เราทุกคนก็อยากจะลงทุนในจังหวะที่ดีที่สุด เช่น ซื้อหุ้นในราคาต่ำสุด เป็นต้น แต่ความจริงที่เป็น ก็คือ ราคาหุ้นที่ว่าซื้อได้ถูกแล้ว ยังมีถูกกว่าได้อีก หรือในทางกลับกัน...ราคาหุ้นที่ดูแล้วน่าจะลดลง กลายเป็นพุ่งขึ้นไม่หยุดจนไม่กล้าซื้อ นี่แหละเป็นความยากของการจับจังหวะลงทุน ยิ่งในภาวะที่ตลาดการเงินผันผวนหนักแบบนี้ บอกเลยว่า หลายคนนั่งกุมขมับ แต่...สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (“Provident Fund : PVD”) กลับชิลล์ๆ เพราะ PVD ลงทุนด้วยเทคนิคแบบ “Dollar Cost Averaging (“DCA”) สมาชิก PVD เลยไม่ต้องมานั่งปวดหัวและกังวลเรื่องราคาหลักทรัพย์ที่ผันผวนอย่างหุ้น ถ้าพร้อมแล้ว...เราไปทำความรู้จักกับ DCA กันเลยดีกว่าครับ

มารู้จักการลงทุนแบบ DCA กันก่อน

DCA เป็นการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย โดยผู้ลงทุนจะกำหนดวันที่ต้องการที่จะซื้อเป็นรายเดือน ในจำนวนเงินที่เท่ากัน  โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน หรือราคาหุ้น ณ วันที่ลงทุนเป็นราคาเท่าไร เป็นการลงทุนแบบอัตโนมัติไปเรื่อยๆ

ซึ่งการที่สมาชิก PVD ได้สะสมเงินเข้า PVD ทันทีทุกครั้งที่เงินเดือนออก แถมยังมีนายจ้างมาช่วยสมทบเงินเข้ากองทุนให้ด้วย ถือเป็นการลงทุนสไตล์ DCA ที่เน้นการสร้างวินัยในการออมและลงทุน โดย PVD จะมีราคาต่อหน่วยของกองทุน (NAV/ Unit) เพื่อนำมาคำนวณหาจำนวนหน่วยที่สมาชิก PVD จะได้รับ ณ วันที่ลงทุน เหมือนกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยมีสุตรการคำนวณดังนี้ 

จำนวนหน่วย = เงินลงทุน / ราคาต่อหน่วย

ลองคำนวณกันว่า “DCA” ทำให้เกิดการเฉลี่ยต้นทุนได้อย่างไร?

สมมุติว่า คุณเริ่มออมมีเงินนำส่งเข้า PVD เดือนละ 1,000 บาท  

เดือนที่ 1 : ราคาต่อหน่วย 15 บาท/หน่วย จะได้จำนวนหน่วย 66.67 หน่วย

เดือนที่ 2 : ราคาต่อหน่วย 11 บาท/หน่วย จะได้จำนวนหน่วย 90.91 หน่วย

เดือนที่ 3 : ราคาต่อหน่วย 12 บาท/หน่วย จะได้จำนวนหน่วย 83.33 หน่วย

เดือนที่ 4 : ราคาต่อหน่วย 16 บาท/หน่วย จะได้จำนวนหน่วย 62.50 หน่วย

เดือนที่ 5 : ราคาต่อหน่วย 18 บาท/หน่วย จะได้จำนวนหน่วย 55.56 หน่วย

เดือนที่ 6 : ราคาต่อหน่วย 20 บาท/หน่วย จะได้จำนวนหน่วย 50.00 หน่วย


ดังนั้นจะมีเงินลงทุน 6 เดือนเท่ากับ 6,000 บาท จำนวนหน่วยที่ได้รับทั้งสิ้น 408.97 หน่วยดังนั้น ราคาเฉลี่ยต่อหน่วยจะเท่ากับ 14.67 บาท/ หน่วย

จากในตัวอย่างข้างต้น การลงทุนแบบ DCA มีโอกาสที่ราคาต่อหน่วยหรือต้นทุนของการลงทุนใน PVD จะต่ำกว่าการลงทุนทั้งก้อนครั้งเดียวในเดือนใดเดือนหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าเทคนิค DCA ไม่ได้รับรองว่าสมาชิก PVD จะไม่ขาดทุนจากการลงทุน แต่ DCA เป็นเทคนิคที่เน้นสร้างวินัยในการลงทุน โดยที่สมาชิก PVD จะได้ลงทุนในกองทุนด้วยราคาเฉลี่ย และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวนั่นเอง

โดยเพื่อนๆ สมาชิก PVD ควรเลือกพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ (Risk Tolerance) ซึ่งใครที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็ให้เลือกพอร์ตการลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินเสี่ยงสูงน้อยหน่อย ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้มากหน่อย ก็สามารถเลือกพอร์ตการลงทุนที่มีสินทรัพย์เสียงสูงได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสียงแล้วในระยะยาวยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ก็อย่าลืมปรับยอดเงินออมใน PVD ให้เต็ม Max ที่ 15%* เพื่อที่เราจะได้มีชีวิตที่มั่นคงมั่งคั่งทั้งในปัจจุบัน แล้วก็มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ

*ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของบริษัทนายจ้าง

"ในเมื่อ PVD ช่วยให้เรารอดได้ขนาดนี้ แล้วจะไม่ออมใน PVD ได้ยังไง มาออมเต็ม Max 15% กันไปเลย"

แล้วเพื่อนก็จะได้มีเงินเก็บก้อนโต แล้วก็จะได้มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCOSmart Retirement Facebook : TISCO  #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #FreedombyTISCOPVD #PVDmember