PVD ลงทุนอะไรได้บ้าง ?
PVD ลงทุนอะไรได้บ้าง?
การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund “PVD”) ในอดีตนั้นถูกจำกัดให้ลงทุนได้เฉพาะในเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ภาครัฐ ตราสารหนี้ภาคเอกชน และหุ้นไทยเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน PVD สามารถลงทุนในสินทรัพย์ได้หลากหลายมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในเรื่องของการกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนระยะยาวที่สูงขึ้นอีกด้วย ไปดูกันเลยว่า สินทรัพย์หลักๆ ที่ PVD ลงทุนได้ในปัจจุบัน ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

1. เงินฝากธนาคาร

เวลาที่นำเงินไปฝากธนาคาร ผู้ฝากเงินอย่าง PVD จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการฝากเงิน ธนาคารจะคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากเงิน

ระดับความเสี่ยง  : ต่ำ                         
ผลตอบแทนที่คาดหวัง
 : ต่ำ

รูปแบบผลตอบแทน : ดอกเบี้ย

2. ตราสารหนี้ภาครัฐ

ในกรณีที่ภาครัฐกู้ยืมเงินจากนักลงทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศ นักลงทุนอย่าง PVD จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของภาครัฐ โดยจะได้รับเอกสารสำหรับการกู้ยืมดังกล่าว เช่น พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น ทั้งนี้ การจ่ายคืนดอกเบี้ยจะเป็นไปตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อครบกำหนดไถ่ถอน ภาครัฐจะจ่ายคืนเงินต้นเต็มให้จำนวน อย่างไรก็ตาม กรณีที่ต้องการไถ่ถอนพันธบัตรก่อนครบกำหนด นักลงทุนจะต้องขายพันธบัตรดังกล่าวในตลาดรองที่ราคาตลาด ซึ่งก็มีความเสี่ยงว่าอาจได้รับเงินคืนน้อยกว่าเงินต้นที่จ่ายไป

ระดับความเสี่ยง : ต่ำ                              
ผลตอบแทนที่คาดหวัง
 : ต่ำ

รูปแบบผลตอบแทน : ดอกเบี้ย (ปกติจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง) ส่วนเพิ่ม/ลดจากการตีราคา และกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย

3. ตราสารหนี้ภาคเอกชน

เช่นเดียวกับภาครัฐ กรณีที่บริษัทเอกชนกู้ยืมเงินจากนักลงทุน เช่น PVD เพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการ บริษัทเอกชนก็จะออกเอกสารให้แก่นักลงทุน เช่น หุ้นกู้ เป็นต้น สำหรับการจ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้น การไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด ก็จะเป็นในลักษณะเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลนั่นเอง

ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ โดยระดับความเสี่ยงจะขึ้นกับความน่าเชื่อของแต่ละบริษัท (เครดิตเรทติ้ง) ซึ่งเรทติ้งของบริษัทในระดับที่ลงทุนได้ คือ ตั้งแต่ระดับ BBB- ขึ้นไป จะถือเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี แต่ให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก

ระดับความเสี่ยง : ค่อนข้างต่ำ - ปานกลาง (ขึ้นกับเครดิตเรทติ้ง)          
ผลตอบแทนที่คาดหวัง
 : ค่อนข้างต่ำ - ปานกลาง (ขึ้นกับเครดิตเรทติ้ง)

รูปแบบผลตอบแทน : ดอกเบี้ย (ปกติจ่ายปีละ 2 หรือ 4 ครั้ง) ส่วนเพิ่ม/ลดจากการตีราคา และกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย

4. หุ้นไทย

นักลงทุนที่ลงทุนซื้อหุ้นไทย (“ผู้ถือหุ้น”) มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการของหุ้นดังกล่าว หากกิจการมีกำไร ผู้ถือหุ้นก็มีสิทธิได้รับผลตอบแทนที่เรียกว่า “เงินปันผล” และหากกิจการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ราคาหุ้นที่ถือไว้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ถือหุ้นก็จะมีกำไรตอนที่ขายหุ้นด้วย ในทางตรงกันข้าม ผู้ถือหุ้นก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน นอกจากนี้ สำหรับ PVD ระหว่างที่ลงทุนในหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ PVD ต้องตีราคาหุ้นที่ถืออยู่ แม้จะยังไม่ขายออกไปก็ตาม ดังนั้น ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละวัน ก็จะมีผลต่อผลตอบแทนของกองทุนด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การลงทุนในหุ้นจึงมีความเสี่ยงมากกว่าตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากหุ้นในระยะยาวยังถือว่าคุ้มค่า หากสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มในการเติบโตและสร้างผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

ระดับความเสี่ยง : สูง      
ผลตอบแทนที่คาดหวัง : สูง

รูปแบบผลตอบแทน : เงินปันผล ส่วนเพิ่ม/ลดจากการตีราคา และกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย

5. ตราสารต่างประเทศ

การลงทุนในตราสารต่างประเทศนั้น สามารถลงทุนได้ทั้งตราสารหนี้ และหุ้นต่างประเทศ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ซึ่งเป็นการได้ร่วมเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำกิจการในต่างประเทศนั่นเอง ผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เหมือนกับหุ้นไทย ซึ่งก็คือ เงินปันผล ส่วนเพิ่ม/ลดจากการตีราคา และกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขายหุ้น ซึ่งการแบ่งเงินลงทุนไปในหุ้นต่างประเทศถือเป็นการกระจายการลงทุนที่ดี

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ มีความเสี่ยงเพิ่มเติมจากหุ้นไทย ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจการเมืองของประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงเรื่องข้อจำกัดในการนำเงินกลับเข้าประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้น จึงต้องมีการพิจารณาเรื่องข้อมูลการลงทุนและความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้านก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

ระดับความเสี่ยง  : สูง      
ผลตอบแทนที่คาดหวัง : สูง

รูปแบบผลตอบแทน : เงินปันผล ส่วนเพิ่ม/ลดจากการตีราคา และกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย

6. ทรัพย์สินทางเลือก

การลงทุนในทรัพย์สินทางเลือก (Alternative Investment) คือ การลงทุนในทรัพย์สินที่นอกเหนือไปจากสินทรัพย์พื้นฐาน เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น เป็นต้น ซึ่งสินทรัพย์ทางเลือกที่ PVD สามารถลงทุนได้ ได้แก่ ทองคำ กองทรัสต์เพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์  กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น 

โดยปกติแล้ว สินทรัพย์ทางเลือกและสินทรัพย์พื้นฐานจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม การจัดพอร์ตให้มีการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกบางส่วน จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี และช่วยลดความผันผวนของผลตอบแทนได้ อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังในส่วนของราคาของสินทรัพย์ทางเลือกที่อาจมีความผันผวนสูง และทำให้ขาดทุนได้

ระดับความเสี่ยง : สูงมาก
ผลตอบแทนที่คาดหวัง : สูง

รูปแบบผลตอบแทน : เงินปันผล ส่วนเพิ่ม/ลดจากการตีราคา และกำไร/ขาดทุนจากการซื้อขาย

จากทางเลือกที่มีมากขึ้นสำหรับการลงทุนใน PVD สมาชิก PVD สามารถเลือกพอร์ตการลงทุนที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องควบคู่มากับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เราแนะนำให้เลือกลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ (Risk Tolerance) ซึ่งใครที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็ให้เลือกพอร์ตการลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินเสี่ยงสูงน้อยหน่อย ส่วนใครที่รับความเสี่ยงได้มากหน่อย ก็สามารถเลือกพอร์ตการลงทุนที่มีสินทรัพย์เสียงสูงได้เพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสียงแล้วในระยะยาวยังมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงขึ้นอีกด้วย

ซึ่งหลังจากที่เราเลือกพอร์ตการลงทุนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงของเราแล้ว ก็อย่าลืมปรับยอดเงินออมใน PVD ให้เต็ม Max ที่ 15% เพื่อที่เราจะได้มีชีวิตที่มั่นคงมั่งคั่งทั้งในปัจจุบัน แล้วก็มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCOSmart Retirement Facebook : TISCO  #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #FreedombyTISCOPVD #PVDmember