การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุน

จัดตั้งคณะกรรมการกองทุน

คณะกรรมการกองทุนประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้าง และฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทนายจ้าง โดยคณะกรรมการกองทุนทำหน้าที่แทนสมาชิกทุกคนในการควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน คัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทจัดการกองทุน ผู้รับฝากทรัพย์สิน ผู้สอบบัญชี รวมถึงการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กำหนดข้อบังคับกองทุน

เมื่อนายจ้างและลูกจ้างตกลงที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องกำหนดเงื่อนไขข้อบังคับของกองทุน เช่น การเข้าเป็นสมาชิกกองทุน การสิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุน อัตราเงินสะสม-สมทบ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบ เป็นต้น

การดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

บลจ.ทิสโก้ จะช่วยเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการจัดตั้งกองทุน และประสานงานระหว่างคณะกรรมการกองทุนและ สำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้ว จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลแยกจากบริษัทนายจ้าง และบริษัทจัดการกองทุนโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ กองทุนจะไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี กล่าวคือ เจ้าหนี้ของบริษัทนายจ้าง ของลูกจ้าง หรือ ของบริษัทจัดการกองทุน ไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีเพื่อมีสิทธิในเงินกองทุนได้ อีกทั้งสิทธิเรียกร้องในเงินกองทุนก็ไม่สามารถโอนได้เช่นกัน


ประโยชน์จากการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำหรับนายจ้าง
  1. เพิ่มสวัสดิการพนักงาน
    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจดทะเบียนนับเป็นสวัสดิการที่มุ่งเน้นผลในระยะยาว กล่าวคือ บริษัทช่วยพนักงาน ออมเงินเพื่อจะได้มีเงินเป็นกอบเป็นกำสำหรับใช้จ่ายในอนาคตหลังจากออกจากงาน จึงเป็นการเพิ่มแรงจูงใจ ในการทำงานของพนักงานให้อยู่กับบริษัทนานขึ้น

  2. ช่วยให้การหมุนเวียนกระแสเงินสดดีขึ้น
    สำหรับบริษัทที่มีกองทุนบำเหน็จนั้น อาจประสบปัญหาในการจัดหาเงินก้อนให้กับพนักงานเมื่อพนักงานลาออก หรือเกษียณอายุ ซึ่งมักเป็นเงินจำนวนมาก แต่สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทได้จ่ายเงินสมทบ ให้กองทุนแล้วทุกเดือนซึ่งเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เมื่อพนักงานลาออกจะได้รับเงินโดยตรงจากกองทุน โดยบริษัทไม่ต้องมีภาระในการจัดหาเงินอีก

  3. ลดภาระทางภาษี
    เงินสมทบที่บริษัทจ่ายเข้ากองทุน ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนในการคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่จ่ายเงินได้

  4. ลดภาระด้านการบริหารของบริษัท
    บริษัทจัดการกองทุนเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารกองทุน การเก็บข้อมูลและการจัดทำ เอกสารต่างๆ ให้แก่กองทุน และการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับสมาชิกที่ลาออก ดังนั้น ภาระในด้านการดูแล และบริหารของบริษัทนายจ้างจึงลดน้อยลง

  5. ช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศ
    เงินที่บริษัทจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นการออมทรัพย์ประเภทหนึ่ง เงินออมดังกล่าวนี้มีส่วนช่วย ในการพัฒนาประเทศ ทั้งในภาคธุรกิจและการพัฒนา สาธารณูปโภคของประเทศ

 

สำหรับพนักงาน
  1. ลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี
    เงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุด 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างในปีนั้น

  2. เงินที่ได้รับจากกองทุนได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
    เงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

  3. รายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษี   
    รายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจดทะเบียน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไร จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

  4. ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในส่วนเงินที่โอนเข้ากองทุนใหม่
    ในกรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงาน และขอโอนเงินกองทุนจากบริษัทเดิมไปยังบริษัทใหม่ ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จดทะเบียน สมาชิกผู้นั้นจะยังคงได้รับผลประโยชน์ทางภาษี โดยอายุสมาชิกกองทุนจะได้นับต่อเนื่อง

  5. มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยยังไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้นั้น
    เงินสมทบที่บริษัทจ่ายเข้ากองทุน เปรียบเสมือนเงินเดือนที่พนักงานได้รับเพิ่มขึ้นโดยยังไม่ต้องนำมารวม กับรายได้เพื่อคำนวณภาษี จนกว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุน

  6. มีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง
    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ และเป็นมืออาชีพ เงินกองทุนจึงได้รับการลงทุนโดยมืออาชีพ มีการวิเคราะห์วิจัยและกระจายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน ที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่กองทุนยอมรับได้

  7. กองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น
    กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้ว จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้างและบริษัทจัดการกองทุน  ดังนั้น แม้ว่านายจ้างหรือบริษัทจัดการกองทุนจะประสบปัญหาทางการเงิน หรือถึงขั้นต้องเลิกกิจการไปก็ตาม พนักงานจะยังคงได้รับเงินกองทุนคืนตามสิทธิและข้อบังคับของกองทุนทุกประการ