ข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ?

      กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์ในการสนับสนุนการออมเพื่อเป็นทุนทรัพย์ให้แก่ลูกจ้าง ในกรณีเกษียณอายุ ทุพพลภาพหรือออกจากงาน และเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวของลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างเสียชีวิต

      โดยเงินสมทบที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่จ่ายเท่ากับจำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 183 (พ.ศ. 2533)

      กองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบด้วยอะไรบ้าง

      • เงินสะสมจากฝ่ายลูกจ้าง หมายถึง เงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเอง ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสม ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง
      • เงินสมทบจากฝ่ายนายจ้าง หมายถึง  เงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อสมทบให้สมาชิก ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้าง
      • ผลประโยชน์จากเงินสะสม-สมทบ หมายถึง ดอกผลที่ได้รับจากการบริหารเงินกองทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามช่วงเวลา จวบจนถึงวันที่เราเกษียณอายุหรือสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน
      • เงินบริจาค หมายถึง ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กองทุน

      ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินสะสมและเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน เพื่อให้บริษัทจัดการนำเงินไปลงทุนให้งอกเงย ตามวัตถุประสงค์ของการออมเงินเพื่อไว้ใช้หลังเกษียณ สมาชิกกองทุนจะมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเมื่อสิ้นสุดความเป็นสมาชิกภาพ ลาออกจากงาน หรือเสียชีวิต

    • ประเภทของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

      กองทุนเดี่ยว/กองทุนกลุ่ม (Single Fund/Group Fund)

      กองทุนเดี่ยว คือกองทุนที่มีบริษัทนายจ้างเพียง 1 ราย หรือเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของนายจ้าง เหมาะสำหรับบริษัทที่มีขนาดของกองทุนตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการกระจายการลงทุนไปยังหลักทรัพย์หรือตราสารทางการเงินต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน กองทุนมีสภาพคล่องและมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีขึ้นในระยะยาว

      กองทุนร่วมทุนหรือกองทุนหลายนายจ้าง  (Pooled Fund) 

      กองทุนร่วมทุนหรือกองทุนหลายนายจ้าง คือ กองทุนที่ประกอบด้วยบริษัทที่มีขนาดต่างๆ ไม่ว่าขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ เข้ามาอยู่รวมกันในกองทุนเดียว โดยสามารถกำหนดข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัทให้แตกต่างกันได้ วัตถุประสงค์สำคัญของกองทุนประเภทนี้ ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าเงินกองทุนในระยะยาวให้แก่สมาชิกกองทุน ด้วยการรวมเงินกองทุนของนายจ้างของบริษัทต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มขนาดกองทุนซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน เพิ่มอำนาจในการต่อรอง ประหยัดค่าใช้จ่ายของกองทุน เพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งในที่สุดช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น

    • การจัดตั้งและจดทะเบียนกองทุน
      • จัดตั้งคณะกรรมการกองทุน  
        คณะกรรมการกองทุนประกอบด้วย 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายที่ได้รับการเลือกตั้งจากลูกจ้าง และฝ่ายที่ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทนายจ้าง โดยคณะกรรมการกองทุนทำหน้าที่แทนสมาชิกทุกคนในการควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุน คัดเลือกและแต่งตั้งบริษัทจัดการกองทุน ผู้รับฝากทรัพย์สิน ผู้สอบบัญชี รวมถึงการติดต่อประสานงานกับบุคคลภายนอกในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

      • กำหนดข้อบังคับกองทุน
        เมื่อนายจ้างและลูกจ้างตกลงที่จะจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะต้องกำหนดเงื่อนไขข้อบังคับของกองทุน เช่น การเข้าเป็นสมาชิกกองทุน การสิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุน อัตราเงินสะสม-สมทบ และเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบ เป็นต้น

      • ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน
        บลจ.ทิสโก้ จะช่วยเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการจัดตั้งกองทุน และประสานงานระหว่างคณะกรรมการกองทุนและสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน

        กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้ว จะมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลแยกจากบริษัทนายจ้าง และบริษัทจัดการกองทุนโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ กองทุนจะไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี กล่าวคือ เจ้าหนี้ของบริษัทนายจ้าง ของลูกจ้าง หรือ ของบริษัทจัดการกองทุน ไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีเพื่อมีสิทธิในเงินกองทุนได้ อีกทั้งสิทธิเรียกร้องในเงินกองทุนก็ไม่สามารถโอนได้เช่นกัน
    • ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
      สำหรับนายจ้าง
      1. ลดภาระทางภาษี
        เงินสมทบที่บริษัทจ่ายเข้ากองทุน ถือเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนในการคำนวณภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันกับที่จ่ายเงินได้

      2. เพิ่มสวัสดิการพนักงาน
        กองทุนสำรองเลี้ยงชีพนับเป็นสวัสดิการที่มุ่งเน้นผลตอบแทนในระยะยาว กล่าวคือ บริษัทช่วยพนักงานออมเงินเพื่อจะได้มีเงินเป็นกอบเป็นกำ สำหรับใช้จ่ายในอนาคตหลังจากออกจากงาน จึงเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานของพนักงานให้อยู่กับบริษัทนานขึ้น

      3. ลดภาระด้านการบริหารของบริษัท
        บริษัทจัดการกองทุนเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ มีหน้าที่โดยตรงในการบริหารกองทุน การเก็บข้อมูลและการจัดทำเอกสารต่างๆ ให้แก่กองทุน และการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กับสมาชิกที่ลาออก ดังนั้น ภาระในด้านการดูแลและบริหารของบริษัทนายจ้างจึงลดน้อยลง

      4. ช่วยให้การหมุนเวียนกระแสเงินสดดีขึ้น
        สำหรับบริษัทที่มีกองทุนบำเหน็จนั้น อาจประสบปัญหาในการจัดหาเงินก้อนให้กับพนักงานเมื่อพนักงานลาออก หรือเกษียณอายุ ซึ่งมักเป็นเงินจำนวนมาก แต่สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทได้จ่ายเงินสมทบให้กองทุนแล้วทุกเดือนซึ่งเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน เมื่อพนักงานลาออกจะได้รับเงินโดยตรงจากกองทุน โดยบริษัทไม่ต้องมีภาระในการจัดหาเงินอีก

      5. ช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศ 
        เงินที่บริษัทจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถือเป็นการออมทรัพย์ประเภทหนึ่ง เงินออมดังกล่าวนี้มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ทั้งในภาคธุรกิจและการพัฒนา สาธารณูปโภคของประเทศ
      สำหรับพนักงาน
      1. ลดภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี
        เงินสะสมที่ส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงสูงสุด 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้างในปีนั้น

      2. เงินที่ได้รับจากกองทุนได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน
        เงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกรณีที่สิ้นสุดสมาชิกภาพเพราะทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์และเป็นสมาชิกกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี (เงื่อนไข 55+5) จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน 
            
      3. รายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนได้รับการยกเว้นภาษี   
        รายได้ที่เกิดขึ้นจากการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจดทะเบียน เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไร จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน

      4. ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในส่วนเงินที่โอนเข้ากองทุนใหม่
        ในกรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงาน และขอโอนเงินกองทุนจากบริษัทเดิมไปยังบริษัทใหม่ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจดทะเบียน สมาชิกผู้นั้นจะยังคงได้รับผลประโยชน์ทางภาษี โดยอายุสมาชิกกองทุนจะได้นับต่อเนื่อง

      5. มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยยังไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้นั้น
        เงินสมทบที่บริษัทจ่ายเข้ากองทุน เปรียบเสมือนเงินเดือนที่พนักงานได้รับเพิ่มขึ้นโดยยังไม่ต้องนำมารวมกับรายได้เพื่อคำนวณภาษี จนกว่าจะสิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุน ทั้งนี้ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนเมื่อครบเงื่อนไข 55+5

      6. มีการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง
        กองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริหารโดยบริษัทจัดการกองทุนที่มีประสบการณ์ และเป็นมืออาชีพ เงินกองทุนจึงได้รับการลงทุนโดยมืออาชีพ มีการวิเคราะห์วิจัยและกระจายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีภายใต้ความเสี่ยงที่กองทุนยอมรับได้

      7. กองทุนมีความมั่นคง
        กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จดทะเบียนแล้ว จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากนายจ้างและบริษัทจัดการกองทุน  ดังนั้น แม้ว่านายจ้างหรือบริษัทจัดการกองทุนจะประสบปัญหาทางการเงิน หรือถึงขั้นต้องเลิกกิจการไปก็ตาม พนักงานจะยังคงได้รับเงินกองทุนคืนตามสิทธิและข้อบังคับของกองทุนทุกประการ
    • 1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

      ทำหน้าที่ควบคุมดูแลบุคคลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจัดการ ผู้รับฝากทรัพย์สิน และผู้สอบบัญชี เป็นต้น และอีกบทบาทหน้าที่หนึ่ง คือ ทำหน้าที่ในฐานะ "นายทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ" ในการรับจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน การแก้ไขข้อบังคับกองทุน รวมทั้งควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนด้วย

      2. คณะกรรมการกองทุน

      คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เป็นตัวแทนของนายจ้างและลูกจ้างที่ช่วยดูแลกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสมาชิก โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการประสานงานเพื่อจัดตั้งกองทุน คัดเลือกบริษัทจัดการ การกำหนดนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของสมาชิก  หรือแก้ไขข้อบังคับกองทุน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก เนื่องจากอำนาจและหน้าที่บางอย่าง เช่น การแก้ไขข้อบังคับกองทุน จะมีผลผูกพันกับสมาชิกให้ต้องปฏิบัติตาม  ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนควรจะเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเสียสละในการดูแล และปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด สมกับที่ได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างและลูกจ้าง ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนประกอบด้วย

      - กรรมการกองทุนฝ่ายนายจ้าง เป็นกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งของนายจ้าง​
      - กรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง เป็นกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของลูกจ้าง​

      3. ผู้รับฝากทรัพย์สิน

      ทำหน้าที่ดูแลและเก็บรักษาทรัพย์สินของกองทุน ติดตามสิทธิประโยชน์ในเรื่องเงินปันผล และสิทธิต่าง ๆ ที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทที่กองทุนลงทุน โดยผู้รับฝากทรัพย์สินต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

      4. บริษัทจัดการ

      ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการเงินของกองทุน โดยนำไปลงทุนให้ออกดอกออกผลเพื่อเป็นประโยชน์แก่สมาชิกกองทุน ดังนั้น คณะกรรมการกองทุนต้องร่วมกันเลือกบริษัทจัดการที่เหมาะสมเข้ามาบริหารจัดการกองทุน โดยบริษัทจัดการจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนส่วนบุคคลด้วย

      5. ผู้สอบบัญชี

      ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานทางการเงิน รับรองความถูกต้องของข้อมูลตามรายงานทางการเงินของกองทุน ก่อนที่จะทำการเลือกผู้สอบบัญชีของกองทุน จะต้องทราบว่าสมาชิกในกองทุนมีจำนวนเท่าใด

      - หากกองทุนมีจำนวนสมาชิกไม่เกิน 100 ราย: ให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไปตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินของกองทุนได้
      - หากกองทุนมีสมาชิกเกิน 100 ราย:
      ต้องให้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบและแสดงความเห็นในงบการเงินของกองทุน

      6. นายทะเบียนสมาชิก

      ทำหน้าที่รับเงินจากนายจ้างเข้ากองทุน จ่ายเงินจากกองทุนให้สมาชิกที่ลาออก จัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิก จำนวนเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของสมาชิกแต่ละราย และจัดส่งรายงานรายตัวสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้สมาชิกทราบทุกงวด 6 เดือนของปีปฏิทิน โดยรายงานจะต้องแสดงจำนวนหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่าต่อหน่วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มูลค่าของเงินสะสมของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสมทบของนายจ้าง พร้อมทั้งผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทจัดการมักจะทำหน้าที่นี้เอง แต่ก็อาจมอบหมายให้บริษัทอื่นที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทำหน้าที่แทนก็ได้ โดยที่ผู้ปฏิบัติการกองทุนทำหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิก ดังนั้น จึงมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า "นายทะเบียนสมาชิก"

      7. นายจ้าง

      เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการริเริ่มให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อเป็นสวัสดิการที่ดีให้แก่ลูกจ้าง และเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างมีเงินก้อนไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ ออกจากงาน หรือ ออกจากกองทุน  ทั้งนี้ นายจ้างจะมีหน้าที่หลักในการนำส่งเงินสะสมและสมทบเข้ากองทุน​

      8. ลูกจ้าง

      พนักงานหรือลูกจ้างที่ทำงานให้แก่นายจ้าง ซึ่งเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และยินยอมให้นายจ้างหักเงินจากค้าจ้างเพื่อเป็นเงินสะสมนำส่งเข้ากองทุน 

    บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

    สนใจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือพิจารณาเลือกบริษัทจัดการกองทุน

    ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
    02 633 6161  หรืออีเมล์ tasset_pvd@tisco.co.th