วางแผนเกษียณ (Smart Retirement)
ที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการ

"TISCO Smart Retirement" สุขทุกวันยันเกษียณ

เพราะเราเชื่อว่าการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณที่ดีนั้นควรมี "เป้าหมายที่ชัดเจน" แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานแห่ง "ความสุข" ในระหว่างเส้นทางการออมและการลงทุน ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจวบจนวันหลังเกษียณ 

ดังนั้น บลจ.ทิสโก้จึงได้จัดตั้งโครงการยั่งยืนที่ชื่อว่า "TISCO Smart Retirement" ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2559 จวบจนปัจจุบัน โดยใช้สโลแกนที่ว่า “สุขทุกวันยันเกษียณ” ที่มุ่งเน้นในการให้ความรู้ด้านการออม การลงทุน การบริหารหนี้ การบริหารความเสี่ยง การวางแผนภาษี รวมถึงการบริหารความสุข ให้แก่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผ่านช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์ โดยการจัดอมรมสัมนา รวมถึงกิจกรรม สิทธิพิเศษสำหรับสมาชิก 

โครงการดังกล่าวจึงเป็นอีกหนึ่งความใส่ใจหนึ่งที่นอกเหนือจากความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมืออาชีพ หากแต่เรายังตั้งใจที่จะมอบบริการที่ปรึกษาและคำแนะนำในการวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณที่ดีที่สุดด้วยข้อมูลที่ทันสมัยและตรงกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้แก่สมาชิกกองทุนทุกท่านเพื่อให้คุณได้สุขทุกวันยันเกษียณ


วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ กับ TISCO Smart Retirement

เราได้ออกแบบการวางแผนเกษียณให้ชาญฉลาดบนพื้นฐานแห่งความสุขตั้งแต่เริ่มออมยันเกษียณ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการออม/ลงทุน และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยประกอบไปด้วย 4 Smarts ได้แก่

  • ออมอย่างฉลาด
    ออมก่อนได้เปรียบ...เราควรออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มสิทธิ 15% ของเงินเดือน หรือจะลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะถ้าหากเราลงทุนตั้งแต่ตอนอายุน้อยถือว่าได้เปรียบในเรื่องของการออมมากที่สุด เนื่องจากเราจะมีเวลาในการออมและลงทุนที่นานมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยเราควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นด้วย เนื่องจากในระยะยาวนั้น หุ้นให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าการฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ นอกจากนี้ ควรเริ่มวางแผนเก็บเงินซื้อบ้าน (ถ้ายังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง)

  • ไม่พลาดเรื่องใช้จ่าย
    การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามกระแสสังคมโดยที่รายได้ของเราไม่ได้เพียงพอที่จะใช้จ่ายอย่างหรูหรานั้น นอกจากจะทำให้ไม่มีเงินเก็บเพื่อสำหรับหลังเกษียณแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดภาระหนี้ในปัจจุบันอีกด้วย โดยหากเรารู้จักการใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่าโดยใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ นอกจากจะไม่มีภาระหนี้แล้ว ก็จะทำให้เรามีเงินเหลือเก็บเพิ่มเติมและสามารถถึงเป้าหมายทางการเงินเพื่อการเกษียณได้เร็วขึ้นอีกด้วย

  • สบายๆ กับชีวิต
    การที่เราจะมีความสุขได้ทุกวันจนถึงตอนเกษียณนั้น  เราจะต้องมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งในส่วนของร่างกายนั้น หากเราดูแลสุขภาพของเราให้ดี โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ สิ่งเหล่านี้จะลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลไปได้มาก

    ในส่วนของจิตใจ หากอ้างอิงถึงคำกล่าวที่ว่า “ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว” นั้น การมีจิตใจที่มีความสุขเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากจิตใจดี ร่างกายก็จะดีตามไปด้วย ดังนั้น เราควรจัดสรรเวลาทำงานและการพักผ่อนหย่อนใจให้สมดุล (Work-Life Balance) เพื่อให้เรามีความสุขสดชื่นในทุกๆ วันยันเกษียณอายุ

  • ลิมิตทุกความเสี่ยง

    การที่เราทำงานมาทั้งชีวิตเพื่อให้มีความสุขหลังเกษียณนั้น  เราคงไม่อยากให้ทรัพย์สินที่เราหามาด้วยความยากลำบากต้องสูญเสียไปโดยไม่จำเป็น  ดังนั้น เราควรป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินโดยการทำประกันคุ้มครองทรัพย์สินของเรา นอกจากนี้ การทำประกันบางอย่างที่เราอาจรู้สึกว่าไม่จำเป็นเพราะเสียเบี้ยประกันแบบจ่ายทิ้ง เช่น การทำประกันสุขภาพ เป็นต้นซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำประกันโรคร้ายแรงที่มีวงเงินคุ้มครองการรักษาพยาบาลในวงเงินที่สูงมากซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียทรัพย์สินเงินทองสำหรับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของเรา

ตัวอย่าง Smart Retirement ตามช่วงอายุ
  • วัยเริ่มทำงาน (21 – 30 ปี)

    หากเราอยู่ในช่วงวัยนี้ จะเป็นช่วงเวลาของการวางรากฐานทางการเงิน เราอาจมีรายได้ไม่มากนัก ในขณะเดียวกันเราก็อยากที่เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีพลังชีวิตและอิสระมากในการทำกิจกรรมการงานต่างๆ สามารถใช้ชีวิตอย่างสนุกพร้อมๆ กับเริ่มสร้างความมั่นคงทางการเงิน

    Smart Saving ออมอย่างฉลาด
    ใส่ก่อนได้เปรียบ...เราควรใส่เงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มสิทธิ 15% ของเงินเดือน หรือจะลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพราะถ้าหากเราลงทุนตั้งแต่ตอนอายุน้อยถือว่าได้เปรียบในเรื่องของการออมมากที่สุด เนื่องจากเราจะมีเวลาในการออมและลงทุนที่นานมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ โดยเราควรมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นด้วย เนื่องจากในระยะยาวนั้น หุ้นให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าการฝากเงินหรือลงทุนในตราสารหนี้ นอกจากนี้ ควรเริ่มวางแผนเก็บเงินซื้อบ้าน (ถ้ายังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง)

    Smart Spending ไม่พลาดใช้จ่าย 
    เราต้องเริ่มฝึกให้ตัวเองมีวินัยทางการเงิน  ใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ที่หาได้  แนะนำว่าไม่ควรก่อหนี้เพิ่มและพยายามจ่ายคืนหนี้เดิมที่มีอยู่ เช่น หนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา หนี้จากการซื้อรถ เป็นต้น และที่สำคัญไม่ควรกู้เงินจากบัตรเครดิต

    Smart Living สบายๆ กับชีวิต
    เราควรลงทุนให้ตัวเองและอาชีพการงานโดยหาความรู้เพิ่มเติม เช่น เรียนปริญญาโทหรือคอร์สที่ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคต  นอกจากนี้ ในวัยนี้จะทำอะไรก็ได้ที่ท้าทายโดยไม่ต้องกังวล  ใช้ชีวิตให้มีความสุข อาจจะทำงานอดิเรก เดินทางท่องเทียว ทำกิจกรรมชิคๆ ไม่ว่าจะเที่ยวทั่วไทย แบกเป้เที่ยวเมืองนอก หรือจะดูหนัง ฟังเพลง ดูคอนเสิร์ตก็จัดไปตามสไตล์ได้เลย  นอกจากจะท่องเที่ยวแล้วอย่าลืมหาเวลาออกกำลังกายเพื่อให้ฟิต & เฟิร์ม กันด้วย

    Smart Insured ลิมิตความเสี่ยง
    ในช่วงวัยทำงาน บริษัทส่วนใหญ่ก็จะมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้กับพนักงาน  เราจึงควรซื้อประกันสุขภาพที่มีโปรแกรมคุ้มครองเพิ่มเติมในส่วนที่สวัสดิการบริษัทไม่ครอบคลุม ซึ่งควรจะเพิ่มประกันชีวิต ทุพพลภาพ อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ  โดยเราอาจเริ่มซื้อจากความคุ้มครองน้อยๆ ก่อน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่ออย่างน้อยเราหรือครอบครัวที่อยู่ข้างหลังจะได้มีเงินชดเชย เมื่อเกิดเหตไม่คาดฝันขึ้นกับตัวเรา

  • วัยสร้างครอบครัว (31 – 40 ปี)

    หากเราอยู่ในช่วงวัยนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะว่าชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ ด้าน เราจะมองโลกตามความจริงมากขึ้น หลายคนในวัยนี้แต่งงาน ซื้อบ้านหลังแรก หรือมีลูกซึ่งส่วนใหญ่ลูกก็จะยังเล็กอยู่ เราจะเริ่มคิดถึงการเก็บเงินให้ลูกของเรา บางคนก็เป็นห่วงพ่อแม่ที่ใกล้เกษียณว่าจะมีเงินพอมั้ย หรือช่วยวางแผนให้พ่อแม่ว่าควรหยุดทำงานเมื่อไหร่ เราจะยอมทำงานหนักเพื่อความก้าวหน้าในชีวิต เพื่อโอกาสที่จะได้ตำแหน่งและมีรายได้ที่ดีขึ้น

    Smart Saving ออมอย่างฉลาด
    ถ้าหากเรายังไม่มีลูกให้เราเก็บเงินให้มากที่สุด เพราะถ้าเรามีลูกเมื่อไหร่ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้น นอกจากการออมเต็มสิทธิ์ 15% ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราควรจะเพิ่มการลงทุนเในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ให้มากขึ้น แต่ถ้าเรามีลูกแล้ว แนะนำให้เปิดบัญชีเงินออมหรือลงทุนให้ลูก เช่น ออมในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี โดยตัดจากบัญชีในทุกๆ เดือน เพื่อสะสมเงินให้ลูกเพื่อเป็นทุนการศึกษาในอนาคต

    Smart Spending ไม่พลาดเรื่องใช้จ่าย 
    ถ้าหากเรายังมีหนี้บัตรเครดิตค้างอยู่ ให้เคลียร์หนี้บัตรเครดิตก่อน เพื่อเตรียมกู้ซื้ออย่างอื่นที่จำเป็น เช่น บ้าน เพื่อเป็นรากฐานที่สำคัญให้กับครอบครัว นอกจากนี้ เราควรเคลียร์หนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของเราให้หมดเพราะช่วงหลังๆ จะมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มมามากมาย ให้เราลอง list รายจ่ายออกมาแล้วจะรู้ว่ารายจ่ายไหนจำเป็น หรือเป็นแค่ความสนุกสนานในการใช้จ่ายของตัวเราเอง เราต้องวางแผนและเปรียบเทียบทุกครั้งก่อนซื้อ ไม่ตกเป็นเหยื่อโฆษณา หรือ เพลิดเพลินไปกับการ ช็อปปิ้ง สินค้าออนไลน์ และระวังในการใช้บัตรเครดิต

    Smart Living สบายๆ กับชีวิต
    เราควรใช้เวลาทำกิจกรรมกับครอบครัว สอนลูกให้รู้จักการวางแผนการเงินตั้งแต่เด็ก หาเวลาช่วยคำนวณเงินเพื่อการเกษียณของพ่อแม่ พาลูกๆ ไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ ปู่ย่าตายายเพื่อให้ท่านมีความสุขในบั้นปลายชีวิต นอกจากนี้ ยังสามารถทำกิจกรรมที่อยากทำได้ตามต้องการ เช่น ขับรถพาครอบครัวเที่ยวทั่วไทย ทัวร์เกาหลี-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น ดูหนัง วิ่งมาราธอน ขี่จักรยาน พาเด็กๆไปสวนสัตว์ หรือจะเดินเล่นศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ดูดาวท้องฟ้าจำลองก็ดี นอกจากจะสนุกแล้วยังได้เรียนรู้ พาครอบครัวไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ เพื่อเป็นการปลูกฝังการดูแลรักษาสุขภาพให้กับลูกน้อยแล้ว ยังเป็นกิจกรรมที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย และได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวอย่างมีคุณภาพอีกด้วย

    Smart Insured ลิมิตความเสี่ยง
    เราควรซื้อประกันสุขภาพและประกันชีวิตให้กับตัวเราและครอบครัว ซึ่งในส่วนของเราเองควรจะซื้อประกันโรคร้ายแรงเผื่อเอาไว้ และที่ขาดไม่ได้ คือ ประกันสะสมทรัพย์ที่ได้ประโยชน์ 3 ต่อ ก็คือ มีเงินออม สามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้และคุ้มครองกรณีที่เราเสียชีวิต นอกจากนี้ เราควรแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อประกันสุขภาพหรือประกันบำนาญ ในส่วนของทรัพย์สิน เช่น บ้าน รถ ให้ทำประกันภัยทรัพย์สินไว้ด้วย

  • วัยสร้างฐานะ (41 – 50 ปี)

    หากเราอยู่ในช่วงวัยนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีความมั่นคงในชีวิต เรามีอาชีพที่มั่นคง มีทักษะ ประสบการณ์สูง ในตำแหน่งงานที่ทำ ถึงแม้ว่ารายได้จะสูงขึ้น แต่เชื่อเถอะว่ารายจ่ายก็จะสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เช่น ภาษีสังคม ก็สูงตามมา เริ่มมีเก็บเงินเพื่อการเกษียณมากขึ้น และให้ความสำคัญกับเงินที่จะส่งลูกเรียนในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท

    Smart Saving ออมอย่างฉลาด
    ในช่วงวัยนี้ เราต้องลองปรับแผนการลงทุนใหม่อีกครั้ง แล้วลองดูว่าแผนที่วางมานั้นเป็นไปตามที่เราคิดไว้หรือเปล่า หากเราลงมือทำได้ตามแผนก็น่าดีใจและภูมิใจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นและหันมาเน้นการลงทุนรักษาเงินต้นมากขึ้น แต่สำหรับคนที่ยัง ”ไม่ได้เริ่มออม” หรือ “เงินออมยังไม่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้” ในยามเกษียณ ก็ยังไม่ช้าเกินไปนักที่จะเริ่มออม โดยอาจจะต้องลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น แต่ยังไงก็ตาม ต้องอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้

    Smart Spending ไม่พลาดเรื่องใช้จ่าย 
    เราต้องพยายามเคลียร์ภาระหนี้ปัจจุบันให้หมด เพื่อให้มีรายได้เพียงพอและมีชีวิตที่สุขสบายในวัยเกษียณ หากยังมีหนี้อยู่ ต้องลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันลง อีกเรื่องที่สำคัญต้องเตรียมตัวเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกหรือออมเงินเพื่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของลูก

    Smart Living สบายๆ กับชีวิต
    ในช่วงนี้ ลูกๆ ของเราน่าจะอยู่ในวัยรุ่นซึ่งพวกเขาจะมีสังคมของตัวเอง ไม่ได้ใกล้ชิดกับเราเหมือนในช่วงที่ยังพวกเขายังเด็ก ดังนั้น เราน่าจะเริ่มทำในสิ่งที่อยากทำแต่ไม่เคยทำหรือตื่นเต้นที่จะทำ เพราะแต่ก่อนไม่ค่อยมีเวลาให้ตัวเอง เวลาของเราส่วนใหญ่หมดไปกับลูกและครอบครัว ดังนั้น ให้เราลองจดสิ่งที่เราอยากทำออกมาเป็น “รายการกิจกรรมที่ฝันไว้” และพยายามทำแต่ละหัวข้อให้สำเร็จ เช่น ขับรถเที่ยวทั่วไทย 72 จังหวัด ตะลุยทั่วยุโรปด้วยรถไฟ นอกจากนี้กิจกรรมที่แนะนำสำหรับช่วงวัยนี้ คือ แพคเกจทัวร์ยุโรป คอนเสริต์ศิลปินที่ชอบ สปา โยคะ ทำบุญ นั่งสมาธิ นอกจากนี้ อย่าลืมออกกำลังกายให้เลือดสูบฉีดอยู่สม่ำเสมอ ร่างกายจะได้แข็งแรง

    Smart Insured ลิมิตความเสี่ยง
    ในช่วงวัยนี้ แนะนำให้เริ่มทำประกันบำนาญ ซึ่งจะทำให้เรามีเงินไว้ใช้เมื่อเราไม่ทำงานแล้ว ข้อดีของประกันบำนาญ คือ การที่เราจะมีรายได้สม่ำเสมอจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ฉะนั้น จะเหมาะมากถ้าเราคาดว่าเราจะอายุยืนยาว และยังสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย นอกจากนี้ ให้เราทบทวนวงเงินประกันสุขภาพ ประกันชีวิตของเราว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือยัง

  • วัยใกล้เกษียณ (51 - 60 ปี)

    หากเราอยู่ในช่วงวัยนี้ ถือว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่มั่นคงที่สุดในชีวิต เราจะมีตำแหน่งหน้าที่การงานดี รายได้สูง ช่วงวัยนี้แหละที่เราจะสนใจเรื่องรายได้หลังเกษียณมากเป็นพิเศษ และเริ่มวางแผนที่จะทำกิจกรรมหลังเกษียณ ถ้าเรามีเงินพอก็อาจจะเริ่มสนใจในการหาบ้านหลังที่ 2 เพื่อใช้พักผ่อนหรืออยู่หลังเกษียณ

    Smart Saving ออมอย่างฉลาด
    ถ้าหากเราเริ่มออมแล้วแต่ยังออมไม่พอ อาจจะต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูงขึ้น แต่ถ้าหากเรายังไม่ได้เริ่มออมเพื่อการเกษียณเลย เราจะต้องออมให้มากที่สุดโดยลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงมาก เนื่องจากเหลือเวลาเพียง 10 ปี ในการลงทุน แต่ถ้าหากหากเรากังวลหรือรับความเสี่ยงในตลาดหุ้นได้ไม่น้อย แนะนำว่าในช่วงเวลา 5 ปีสุดท้ายก่อนเกษียณ ให้เราค่อยๆ ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นลงไปเรื่อยๆ จนในปีสุดท้ายให้มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นเหลือไม่เกิน 20% ของพอร์ตการลงทุน แต่ถ้าหากเราไม่อยากลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงจริงๆ เราต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในชีวิตประจำวันให้มากที่สุดหรืออาจจะต้องคิดเรื่องการทำงานให้นานขึ้นหรือต่ออายุเกษียณหรือหางานพิเศษหลังเกษียณอายุ

    Smart Spending ไม่พลาดเรื่องใช้จ่าย 
    เราจะต้องเคลียร์ภาระหนี้สินต่างๆ ที่ยังเหลืออยู่ให้หมด เพราะหลังเกษียณเราจะไม่มีรายได้จากทำงานอีกแล้ว ถ้าเรายังมีหนี้อยู่จะทำให้เงินที่ต้องใช้หลังเกษียณยิ่งร่อยหรอและอาจจะไม่พอใช้

    Smart Living สบายๆ กับชีวิต
    เราควรจะเตรียมการเรื่องเอกสารเกี่ยวกับการเงินและกรมธรรม์ต่างๆ ให้ลูกหลานรู้ รวมถึงเตรียมจัดการมรดกไว้ให้ลูกหลาน กิจกรรมที่แนะนำให้ทำในช่วงวัยนี้ คือ ทัวร์ยุโรป- ญี่ปุ่น ปลูกต้นไม้ ฝึกทำขนม สปา เล่นโยคะ เรียนร้องเพลง ทำบุญ นั่งสมาธิ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะร่างกายที่แข็งแรง ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดภาระด้านการรักษาพยาบาล

    Smart Insured ลิมิตความเสี่ยง
    ในช่วงวัยนี้ แนะนำให้เราทบทวนวงเงินของประกันสุขภาพและประกันบำนาญว่าเพียงพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณหรือไม่ รวมถึงเริ่มทำประกันชีวิตผู้สูงอายุเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายกรณีที่เราเป็นโรคร้ายแรง รวมถึงถ้าเราเสียชีวิต เงินที่ได้คืนจากกรมธรรม์ก็จะตกทอดเป็นมรดกไปยังลูกหลานของเรา