ผู้รับประโยชน์ประกันชีวิต ระบุชื่อใครได้บ้าง?
ผู้รับประโยชน์ประกันชีวิตระบุชื่อใครได้บ้าง?

ในตอนที่แล้ว เราได้รู้แล้วว่า เราสามารถทำประกันชีวิตให้ตัวเราเอง แล้วก็ยังสามารถทำประกันชีวิตให้กับคนอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียในชีวิตเราได้ด้วย 

เราจะมาต่อกันเรื่อง "ผู้รับประโยชน์" ซึ่งก็คือ คนที่จะได้เงินก้อนจากกรมธรรม์ประกันชีวิตกรณีที่เราจากไปก่อนนั่นเอง ไปดูกันครับว่าเราสามารถระบุให้ใครเป็นผู้รับประโยชน์ของเราได้บ้าง


ตามกฎหมาย

เราสามารถระบุชื่อใครเป็น “ผู้รับประโยชน์” ของเราก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือครอบครัว หรือคนใกล้ชิด 

แต่ในทางปฏิบัติ

บริษัทประกันส่วนใหญ่มักจะให้เราระบุชื่อผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมายเป็นผู้รับประโยชน์ พูดง่ายๆ ก็คือ คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง นั่นเอง ซึ่งบริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าการที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่ไม่ใช่คนในครอบครัวมาเป็นผู้รับประโยชน์ น่าจะมีความเสี่ยงเรื่องการก่อเหตุฆาตกรรมผู้เอาประกันสูงกว่าการระบุผู้รับประโยชน์เป็นคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้อง

ซึ่งเวลาที่บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์นั้น จะมีการเรียกเอกสารหลายฉบับ เช่น กรมธรรม์ประกันชีวิต ใบรายงานแพทย์กรณีเสียชีวิต เอกสารต่างๆ ของผู้เอาประกัน ไม่ว่าจะเป็นใบมรณบัตร สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เป็นต้น ซึ่งผู้ที่สามารถจัดเตรียมเอกสารเหล่านี้ได้ มักจะเป็นครอบครัวหรือคนใกล้ชิดกับผู้เอาประกันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันบางแห่งก็รับทำประกันชีวิตกรณีที่ระบุผู้รับประโยชน์ให้กับคู่รักของผู้เอาประกันที่แต่งงานแบบไม่จดทะเบียน รวมถึงคู่รัก LGBTQ เป็นต้น โดยบริษัทประกันแต่ละแห่งก็จะขอเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังบางบริษัทประกันยังอนุญาตให้ระบุผู้รับผลประโยชน์เป็นเจ้าหนี้ของผู้เอาประกัน มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ อีกด้วย

สำหรับการระบุผู้รับประโยชน์นั้น สามารถระบุได้มากกว่า 1 คน จะระบุเป็นสัดส่วนหรือเปอร์เซ็นต์ก็ได้ เช่น ระบุให้ลูก 40% พ่อ 20% แม่ 20% ภรรยา 20% เป็นต้น

หากไม่ได้ระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้ ทางบริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์ให้ผู้รับประโยชน์คนละเท่าๆ กัน หรือกรณีที่ผู้รับประโยชน์บางรายเสียชีวิตก่อนหรือพร้อมผู้เอาประกัน บริษัทประกันจะจ่ายเงินส่วนนั้นให้ ผู้รับประโยชน์ที่เหลืออยู่เป็นจำนวนเงินคนละเท่าๆ กัน ในกรณีที่ไม่ได้ระบุผู้รับประโยชน์ไว้ เงินที่ได้รับจากกรมธรรม์ก็จะตกเป็นทรัพย์สินของกองมรดกของผู้เอาประกันที่เสียชีวิต

หากกรณีที่เราต้องการเปลี่ยนแปลงชื่อผู้รับประโยชน์ ก็สามารถทำได้ตลอดเวลา แต่มีเงื่อนไขที่สำคัญมาก คือ

1.   ผู้เอาประกันยังไม่ได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้กับผู้รับประโยชน์เดิม และ

2.  ผู้รับประโยชน์เดิมยังไม่ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังบริษัทประกัน ว่าต้องการจะถือเอาผลประโยชน์จากกรมธรรม์นั้น

ลองดูตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมติว่าเราระบุให้สามี/ภรรยาเก่าเป็นผู้รับประโยชน์ โดยได้มอบกรมธรรม์ให้สามี/ภรรยาเก่าเก็บไว้ และสามี/ภรรยาเก่าก็ได้ส่งจดหมายยืนยันไปยังบริษัทประกันว่าตนเองเป็นผู้รับผลประโยชน์และจะขอถือเอาผลประโยชน์ตามที่ระบุในกรมธรรม์ ในกรณีนี้ หากเราแต่งงานใหม่ เราจะไม่สามารถเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์เป็นสามี/ภรรยาคนปัจจุบันของเราได้

อย่างไรก็ตาม หากเราต้องการเปลี่ยนผู้รับประโยชน์จริงๆ ก็สามารถทำได้ โดยยกเลิกกรมธรรม์ฉบับเดิม และทำประกันชีวิตฉบับใหม่เพื่อระบุชื่อผู้รับประโยชน์เป็นสามี/ภรรยาปัจจุบันนั่นเอง

เห็นมั้ยครับว่า ความรู้เกี่ยวกับการทำประกันชีวิตนั้นสำคัญมาก เราควรศึกษาไว้ให้ดีเพื่อให้กรมธรรม์ประกันชีวิตมีผลสมบูรณ์ เราและคนที่เรารักก็จะได้รับความคุ้มครอง แล้วก็จะได้มีความสุขไปด้วยกันทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน การวางแผนเกษียณ ได้ที่ TISCO Smart Retirement 
#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #FreedombyTISCOPVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #กองทุนเลี้ยงชีพ #PVD

 Line Official : @TISCOASSET

 Youtube Channel : TISCO Fun(d) Station

 Facebook Fanpage : TISCO Asset Management