4 ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม หลังช่วงหยุดยาววันสงกรานต์

     ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาว 5 วันในช่วงระหว่างวันที่ 12-16 เมษายน เนื่องในวันปีใหม่ไทยหรือวันสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญหนึ่งของชาวไทยและเป็นช่วงที่นักลงทุนไทยจะได้หยุดพักผ่อนอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะกลับมาเผชิญกับประเด็นสำคัญต่างๆ ซึ่งในบทความนี้ได้มีการสรุป 4 ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดหลังช่วงหยุดยาววันสงกรานต์

1. มุมมองคณะกรรมการ Fed ก่อนช่วง Blackout Period

     ในช่วงที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Bond Yield) อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 4.54% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 13 พ.ย. 2023 หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มี.ค. ออกมามากกว่าคาดและตัวเลขตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ประกอบกับคณะกรรมการ Fed หลายท่านให้มุมมองว่าข้อมูลเงินเฟ้อและเศรษฐกิจที่ออกมายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะรีบปรับลดดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ขณะที่บางท่านมองว่าควรปรับลดดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้

     ซึ่งประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ตลาดมองว่าโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ลดลงเหลือเพียง 2 ครั้งจากเดิมที่คาดไว้ 3 ครั้ง แสดงให้เห็นว่าประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดโดยเฉพาะมุมมองของคณะกรรมการ Fed ยังมีผลต่อมุมมองของนักลงทุนค่อนข้างมาก จึงยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะช่วงก่อนวัน Blackout Period ในวันที่ 20 เม.ย. (ช่วงที่คณะกรรมการ Fed ห้ามออกมาให้ความเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย) ว่าคณะกรรมการ Fed จะออกมาให้มุมมองเพิ่มเติมอย่างไร

     ทั้งนี้ในระยะสั้น US Bond Yield ยังมีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นต่อได้อีกสักระยะ หากตัวเลขเงินเฟ้อยังคงออกมามากกว่าคาดหรือคณะกรรมการ Fed ยังคงออกมาให้มุมมองที่มีความ Hawkish อย่างไรก็ดีตลาดยังคงเชื่อว่าในปี 2024 เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในทิศทางชะลอตัว ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ Fed มีโอกาสลดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ และจะทำให้ Bond Yield ปรับตัวลงในระยะถัดไป

2. การประชุม BoJ ในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน

     อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามคือผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในช่วงวันที่ 25-26 เมษายน โดยจากการให้สัมภาษณ์ของนาย Kazuo Ueda ประธาน BoJ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ BoJ ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอขึ้นอยู่กับว่าตัวเลขเงินเฟ้อและตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาจะเป็นอย่างไร ซึ่งการตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยและยกเลิกมาตรการสนับสนุนต่างๆ ในการประชุมรอบวันที่ 18-19 มี.ค. ที่ผ่านมา ก็เกิดหลังจากการที่ทาง BoJ มองว่าเงินเฟ้อและการปรับขึ้นของค่าจ้างกำลังเข้าสู่ระดับเป้าหมาย ส่วนด้านมุมของค่าเงินเยนที่อ่อนค่าต่อเนื่องทาง BoJ อาจมีการเข้าแทรกแซง หากการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลกระทบเชิงลบต่อการปรับขึ้นค่าจ้างที่แท้จริง

     ด้วยเหตุนี้ตลาดจึงมองว่าการเพิ่มความเข้มงวดนโยบายการเงินและแนวโน้มการเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนของ BoJ ยังเป็นความเสี่ยงหลักที่ต้องติดตาม โดยในการประชุม BoJ รอบวันที่ 25-26 เมษายนนี้ ตลาดคาดว่าจะยังคงนโยบายการเงินดังเดิม เพื่อรอข้อมูลต่างๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ในการพิจารณาการตัดสินใจอีกครั้ง แต่ในการประชุมครั้งนี้ก็อาจจะมีการกล่าวถึงแนวทางการควบคุมค่าเงินเยนหลังมีการจัดประชุมด่วนไปในช่วงก่อนหน้า

3. เข้าสู่ช่วงการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2024 ของบริษัทสหรัฐฯ

     หลังช่วงสงกรานต์ เราก็จะเข้าสู่ช่วงการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1/2024 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ โดยในช่วงระหว่างที่เราหยุดยาวสงกรานต์ ก็จะมีบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐฯ ในกลุ่มการเงินที่เริ่มทยอยประกาศผลการดำเนินออกมาแล้ว ได้แก่ BlackRock, JPMorgan Chase และ Wells Fargo ที่จะประกาศผลการดำเนินงานในวันที่ 12 เมษายน

     ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวตลาดจะกลับมาให้ความสนใจกับผลการดำเนินงานของแต่ละบริษัทมากขึ้น ว่าจะออกมาเติบโตเท่าไหร่และมากกว่าที่ตลาดคาดไว้หรือไม่ โดยในไตรมาสนี้ตลาดคาดว่าบริษัทโดยรวมในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.5% YoY และกำไรเพิ่มขึ้น 3.2% YoY (อ้างอิงจากรายงานของ FactSet ณ วันที่ 5 เมษายน 2024) นำโดยหุ้นกลุ่ม Technology และ Communication Services ที่คาดว่าจะมีกำไรเพิ่มขึ้นราว 19-20% YoY ซึ่งหุ้นกลุ่มดังกล่าวส่วนใหญ่จะประกาศผลการดำเนินงานออกมาในช่วงระหว่างวันที่ 17-25 เม.ย.นี้

4. มุมมองนักลงทุนต่างชาติต่อผลการประชุม กนง. และการอนุมัตินโยบายภาครัฐ

     ผลการประชุม กนง. ในวันที่ 10 เมษายนก่อนวันหยุดยาวสงกรานต์มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.5% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ โดยในรอบนี้ยังคงมีคณะกรรมการ 2 ท่านจาก 7 ท่านที่มองว่าควรลดดอกเบี้ย 0.25% เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงชะลอตัวและตัวเลขเงินเฟ้อออกมาติดลบ 6 เดือน ติดต่อกัน ซึ่งเรามองว่าประเด็นดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อหุ้นไทยจำกัดเนื่องจากผลออกมาเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้

     อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวก่อนช่วงสงกรานต์ หลังภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน ประกอบกับการที่มาตรการ Digital Wallet มีความชัดเจนมากขึ้น หลังคณะกรรมการนโยบายโครงการได้ออกมาแถลงถึงรายละเอียดถึงแหล่งที่มาของเงิน กลุ่มเป้าหมายและเงื่อนไขการใช้งาน Digital Wallet อย่างชัดเจน และพร้อมที่จะเสนอยื่นให้แก่ ครม. ในช่วงเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งหากผ่านก็คาดว่าจะพร้อมเบิกใช้จ่ายในไตรมาส 4/2024 และคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไทยขึ้นราว 1.2-1.6% โดยปัจจัยทั้งสองถือเป็น sentiment เชิงบวกที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าเงินสนับสนุนภาครัฐที่ล่าช้ามานานกำลังกลับเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจและภาคธุรกิจของไทยอีกครั้ง และน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติกลับมามีความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้น

     ทั้งนี้เรายังคงต้องติดตามสถานการณ์ตลาดหลังกลับมาเปิดอีกครั้งในช่วงหลังสงกรานต์ ว่าเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดี เรายังคงเชื่อมั่นว่ามาตรการกระตุ้นที่ออกมาจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และตลาดหุ้นไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

     สุดท้ายนี้เนื่องในวันเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย บลจ.ทิสโก้ขออวยพรให้นักลงทุนทุกท่านมีความสุข คิดสิ่งใดสมปรารถนา และเดินทางในช่วงวันหยุดยาวอย่างปลอดภัย

 

Source: กนง., Bloomberg, FactSet, Interactive Investor, MUFG’s Research

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ TISCO Contact Center 0 2633 6000 กด 4 , 0 2080 6000 กด 4
ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน

รายงานฉบับนี้ไม่ถือว่าเป็นคำเสนอหรือคำชี้ชวนให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และจัดทำขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัทเท่านั้น มิให้นำไปเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือโดยทางอื่นใด ทิสโก้ไม่ต้องรับผิดต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยตรงหรือเป็นผลจากการใช้เนื้อหาหรือรายงานฉบับนี้ การนำไปซึ่งข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่ผู้เดียว