เช็คด่วน โรคทางการเงิน ติดแล้วหรือยัง? Ep.1
เช็คด่วน โรคทางการเงิน ติดแล้วหรือยัง?

หลายปีมานี้ กระแสดูแลสุขภาพมาแรงมาก หลายคนหันมากินคลีน ออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคที่สูงขึ้น ทีนี้ ถ้าดูแลสุขภาพกายดีแล้ว ก็อย่าลืมดูแล “สุขภาพทางการเงิน” กันด้วย โดยเราสามารถเช็คว่าเรามีโอกาสเป็นโรคทางการเงินหรือเปล่า ได้จาก การวิเคราะห์ “อัตราส่วนทางการเงิน”

ซึ่งแบ่งออกเป็น การวิเคราะห์สภาพคล่อง การวิเคราะห์สภาวะการก่อหนี้สิน และการวิเคราะห์การออมและการลงทุน โดยในวันนี้ เราจะเริ่มวิเคราะห์สภาพคล่องกันก่อน เพื่อดูความสามารถในการหาเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่องมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและในยามฉุกเฉิน มาดูกันเลยว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางเงินหรือไม่


1. โรคเงินตึง

สาเหตุของโรคนี้ คือ มีหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระใน 1 ปี แต่มีเงินไม่พอจ่ายหนี้ที่จะครบกำหนด โดยให้ลองคำนวณอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่บอกว่าเรามีสินทรัพย์สภาพคล่อง เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร เป็นต้น เพียงพอชำระหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปีหรือไม่ โดยสูตรมีดังนี้

อัตราส่วนสภาพคล่อง = สินทรัพย์สภาพคล่อง / หนี้สินระยะสั้น

ทั้งนี้ อัตราส่วนสภาพคล่องควรมีค่ามากกว่า 1 หากเพื่อนๆ คนไหน คำนวณแล้วได้ค่าน้อยกว่า 1 ให้รีบหาทางเพิ่มสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อจะได้มีเงินมาชำระหนี้ระยะสั้นที่จะครบกำหนด แปลงหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว แปลงหนี้ดอกเบี้ยสูงเป็นหนี้ดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น

2. โรคเงินจม

สาเหตุของโรคนี้ คือ เตรียมเงินสำรองกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไว้ไม่พอ เช่น กรณีขาดรายได้เนื่องจากเจ็บป่วย/ ประสบอุบัติเหตุ/ ตกงานกระทันหัน เป็นต้น โดยให้คำนวณอัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน (Basic Liquidity Ratio) ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่บอกว่า หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราจะมีเงินหรือสินทรัพย์สภาพคล่องเพียงพอที่จะดำรงชีวิตได้กี่เดือน โดยมีสูตรดังนี้

อัตราส่วนสภาพคล่องพื้นฐาน = สินทรัพย์สภาพคล่อง / กระแสเงินสดจ่ายต่อเดือน

อัตราส่วนนี้ควรมีค่าอยู่ระหว่าง 3-6 เท่า ซึ่งจำนวนเดือนที่ต้องสำรองไว้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เช่น ใครที่มีรายได้ทางเดียว ควรสำรองสินทรัพย์สภาพคล่องไว้ใช้จ่ายให้พออย่างน้อย 6 เดือน เป็นต้น ทีนี้ ใครคำนวณแล้วได้ค่าน้อยกว่า 3-6 เดือน ให้รีบสำรองเงินก้อนนี้แบบด่วนๆ เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องใช้เงินสำรองดังกล่าว ต้องหาเงินมาเพิ่มให้เพียงพอทันทีที่สามารถทำได้ 

3. โรคเงินตีบ

สาเหตุของโรคนี้ คือ การมีสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยเกินไป ทำให้อาจจะประสบปัญหาทางการเงินได้ เพราะไม่มีเงินสดหรือไม่สามารถแปลงสินทรัพย์สภาพคล่องมาใช้ในยามฉุกเฉินทันท่วงที

โดยให้ลองคำนวณอัตราส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่อความมั่งคั่งสุทธิ (Liquid Assets to Net Worth Ratio) ที่จะบอกได้ว่าความมั่งคั่งสุทธิ (สินทรัพย์ - หนิ้สิน) ประกอบด้วยสินทรัพย์สภาพคล่องมากน้อยแค่ไหน มีสูตรดังนี้

อัตราส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่อความมั่งคั่งสุทธิ   = สินทรัพย์สภาพคล่อง / ความมั่งคั่งสุทธิ

อัตราส่วนนี้ขั้นต่ำเท่ากับ 15% ซึ่งใครมีความมั่งคั่งสุทธิสูง แต่มีสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยก็อาจจะเจอปัญหาสภาพคล่องได้

เราทุกคนควรจะรักษาสุขภาพทางการเงินให้ดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะนำไปสู่อิสรภาพทางการเงินแล้ว เราก็จะมีชีวิตทีดีและมีความสุขไปด้วยกันทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุน การวางแผนเกษียณ ได้ที่ TISCO Smart Retirement 
#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #FreedombyTISCOPVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #กองทุนเลี้ยงชีพ #PVD

 Line Official : @TISCOASSET

 Youtube Channel : TISCO Fun(d) Station

 Facebook Fanpage : TISCO Asset Management