ต้องมีประกันสุขภาพส่วนตัวมั้ย?
ปีใหม่นี้ เพื่อนๆ หลายคนคงได้ทบทวนและวางแผนเรื่องต่างๆ ในชีวิตให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออมการลงทุน การจัดการหนี้ การพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ แต่มีอีกเรื่องที่สำคัญที่ควรจะวางแผนด้วย ก็คือ การปกป้องความมั่งคั่งที่จะช่วยให้เงินทองที่เราอุตส่าห์เก็บออมมาอยู่กับเราไปนานๆ ไม่รั่วไหลออกไปแบบไม่คาดฝันจากความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่น การเจ็บป่วย เป็นต้น

ในปัจจุบัน เวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลแต่ละครั้ง จะเห็นว่าต้องจ่ายแพงมากและมีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ แค่เจ็บป่วยนิดหน่อยเป็นไข้หวัด ยังต้องจ่ายเป็นพัน ถ้าเกิดป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง คงต้องเตรียมเงินก้อนเป็นแสนเป็นล้านไว้แน่นอน สำหรับเพื่อนๆ ที่ทางนายจ้างมีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหรือทำประกันกลุ่มที่คุ้มครองเรื่องเจ็บป่วยให้อยู่แล้ว ก็คงอุ่นใจว่าได้รับการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม ควรเช็คให้แน่ใจว่าวงเงินสวัสดิการหรือความคุ้มครองของประกันกลุ่มเพียงพอสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นหรือเปล่า โดยให้พิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้ายแรงต่างๆ และค่าใช้จ่ายสำหรับโรคร้ายแรงนั้น ให้ลองดูจากประวัติของคนในครอบครัวหรือญาติพี่น้องว่ามีใครเคยเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับการรักษาโรคร้ายแรงต่างๆ นั้น สามารถสอบถามเบื้องต้นได้ที่โรงพยาบาลที่เราใช้บริการ หากดูแล้ววงเงินค่ารักษาพยาบาลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ก็ถึงเวลาที่จะพิจารณาเรื่องการทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม เพื่อเป็นตัวช่วยอุดช่องโหว่ในเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วประกันสุขภาพแบบไหนกันนะ ที่จะตอบโจทย์สวัสดิการหรือประกันกลุ่มที่มีอยู่ วันนี้ เราก็เลยจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จัก “ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก” กันครับ
ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก คืออะไร

ประกันสุขภาพแบบมีความรับผิดส่วนแรก (deductible) คือ ประกันสุขภาพที่ผู้เอาประกันจะต้องเป็นคนจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนแรกหรือก้อนแรกเองก่อน สำหรับค่ารักษาในส่วนที่เกินจากค่ารักษาส่วนแรก ทางบริษัทประกันจะเป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายให้ตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์  

ตัวอย่างเช่น

นาย ก. มีสวัสดิการประกันสุขภาพแบบกลุ่มจากบริษัทนายจ้างวงเงิน 20,000 บาทต่อปี

เลือกทำประกันสุขภาพส่วนตัวแบบมีความรับผิดส่วนแรก 20,000 บาท แล้วต่อมาเจ็บป่วยทำให้มีค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด 50,000 บาท

นาย ก. จะต้องจ่ายค่ารักษาก้อนแรก 20,000 บาทก่อนโดยเบิกจากสวัสดิการบริษัท จากนั้น บริษัทประกันก็จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือ 30,000 บาทให้นั่นเอง

ดังนั้น โดยสรุปใครที่มีวงเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลหรือประกันกลุ่มที่บริษัททำให้อยู่แล้ว ก็สามารถทำประกันสุขภาพส่วนตัวเพิ่มเติม โดยให้ทำประกันแบบรับผิดส่วนแรกเท่ากับวงเงินสวัสดิการหรือความคุ้มครองที่ระบุในประกันกลุ่ม เวลาที่เราเจ็บป่วย ก็ให้เบิกค่ารักษาส่วนแรกจากสวัสดิการหรือประกันกลุ่มก่อน ค่ารักษาส่วนที่เกินก็มาใช้สิทธิจากประกันสุขภาพส่วนตัวที่ซื้อเพิ่ม ซึ่งการที่มีวงเงินความรับผิดส่วนแรก จะช่วยให้เพื่อนๆ จ่ายค่าเบี้ยประกันน้อยลง ยิ่งวงเงินความรับผิดส่วนแรกสูง ค่าเบี้ยยิ่งถูกลงเรื่อยๆ  

นอกจากนี้ เพื่อนๆ สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดถึง 25,000 บาท โดยเมื่อรวมกับเบี้ยประกันขีวิตจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท

สุดท้ายนี้ เราอยากให้เพื่อนๆ ทบทวนวงเงินประกันสุขภาพให้เป็นปัจจุบันและเหมาะสมกับสวัสดิการที่มีอยู่ โดยหากจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพเพิ่มเติม ก็ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุยังน้อยและยังมีสุขภาพดี เพื่อเวลาเจ็บป่วยจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินหรือนำเงินเก็บเพื่อการเกษียณมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล ทีนี้ เราก็จะมั่นคงมั่งคั่ง มีอิสระทางการเงิน แล้วก็จะมีความสุขทุกวันยันเกษียณไปด้วยกันนะครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO คลิก https://goo.gl/HKbuw4 #TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement #Smartinsured #FreedombyTISCOPVD