จะมี Baby ต้องมี Money เท่าไหร่นะ?
ถ้าเรามีลูก...ต้องเตรียมเงินไว้สำหรับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
วันนี้...เราเตรียมตัวเลขค่าใช้จ่ายของลูกในแต่ละช่วงวัยโดยประมาณมาบอก ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้และแตกต่างกันไปตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละครอบครัวค่ะ

1. ค่าใช้จ่ายช่วงตั้งครรภ์

เป็นค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่จะต้องเตรียมรับมือในช่วง 9 เดือนแรก ไม่ว่าจะเป็นค่าฝากครรภ์ ของใช้สำหรับคนท้อง เช่น ชุดคลุมท้อง ครีมทากันท้องลาย หมอนสำหรับคนท้อง เป็นต้น และที่ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ ซึ่งก็คือ ค่าคลอดนั้นเอง ซึ่งในช่วง 9 เดือนนี้เป็นช่วงที่คุณแม่ต้องดูแลเรื่องสุขภาพและโภชนาการเพื่อลูกน้อยจะได้ออกมาดูโลกได้อย่างแข็งแรง ค่าใช้จ่ายโดยประมาณอยู่ที่ 20,000-200,000 บาท

 

ทั้งนี้ หากคุณแม่/คุณพ่อเป็นผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคมและมีการนำส่งเงินสมทบครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คุณแม่หรือคุณพ่อ (คนใดคนหนึ่ง) สามารถเบิกค่าคลอดเหมาจ่ายได้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้ง นอกจากนี้ กรณีที่คุณแม่เป็นผู้ใช้สิทธิก็สามารถรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน สำหรับลูก 2 คนแรกอีกด้วย 

2. ทารกก่อนวัยเรียน

เมื่อลูกน้อยออกมาเผชิญโลกกว้าง ช่วงวัยนี้จึงถือเป็นอีกช่วงวัยที่สำคัญที่พ่อแม่ให้ความสำคัญต่อการเลี้ยงดู ใส่ใจในเรื่องของโภชนาการและค่าของใช้ต่างๆ เช่น เสื้อผ้าเด็ก ผ้าอ้อม นม และอาหารสำหรับเด็ก เป็นต้น โดยหากลูกกินนมแม่ นอกจากจะได้ประโยชน์สูงยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากด้วย นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในวัคซีนสำหรับลูกน้อย สำหรับบางครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานออฟฟิศ อาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการจ้างพี่เลี้ยงเด็กหรือฝากลูกไว้ที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก นอกจากนี้ บางครอบครัวอาจมีการทำประกันสุขภาพรวมถึงพาลูกเข้าคอร์สเสริมพัฒนาการอีกด้วย ค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยประมาณจะอยู่ที่ 10,000-60,000 บาท/เดือน

3. วัยอนุบาล

ช่วงวัยนี้จึงถือเป็นอีกช่วงวัยที่สำคัญที่พ่อแม่ต้องใส่ใจต่อพัฒนาการของลูกน้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโภชนาการ ของเล่นและกิจกรรมพัฒนาทักษะน้องๆก่อนวัยเรียน ซึ่งในช่วงนี้ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะลดลงจากช่วงวัยทารก เช่น ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป ค่านมผง เป็นต้น แต่จะมีค่าเทอมเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายประจำเดือน ซึ่งในส่วนของค่าเทอมนั้น กรณีเลือกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยประมาณจะอยู่ที่ 8,000-50,000 บาท/เดือน และ ค่าเทอม ชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยประมาณจะอยู่ที่ 18,000 - 450,000 บาท/เทอม

4. วัยประถม

สำหรับวัยนี้ ค่าใช้จ่ายบางอย่างจะหายไป เช่น ค่าผ้าอ้อมสำเร็จรูป ค่านมผง เป็นต้น แต่ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นเป็นหลัก คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น ค่าเทอม ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่ากิจกรรมเสริมต่างๆ  เช่น เรียนดนตรี เรียนการแสดง เรียนว่ายน้ำ เป็นต้น

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยประมาณจะอยู่ที่ 8,000-50,000 บาท/เดือน และ ค่าเทอม ชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยประมาณจะอยู่ที่ 20,000 - 480,000 บาท/เทอม

5. วัยมัธยม

เป็นวัยที่เด็กให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก มักมีการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนบ่อยๆ เช่น ชวนกันไปทานข้าว ไปเที่ยว ดูหนัง ในขณะเดียวกัน พอถึงช่วงมัธยมปลายก็เริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะมีการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยประมาณจะอยู่ที่ 10,000-60,000 บาท/เดือน และ ค่าเทอม ชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน โดยประมาณจะอยู่ที่ 20,000-550,000 บาท/เทอม

6. วัยมหาวิทยาลัย

เป็นวัยที่ลูกๆ เติบโตและเริ่มมีทางเดินชีวิตของตนเอง น้องๆ บางคนอาจจะต้องย้ายที่อยู่เพื่อให้อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เช่น ค่าเช่าหอพัก ค่าน้ำค่าไฟ เป็นต้น หากน้องๆคนไหนเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายจะไม่สูงมาก แต่สำหรับบางคนที่เรียนมหาวิทยาลัยเอกชนหรือต้องการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็อาจสูงขึ้นตามแต่ละมหาวิทยาลัย

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนโดยประมาณจะอยู่ที่ 12,000-60,000 บาท/เดือน และ ค่าเทอม ชุดนักศึกษาและอุปกรณ์การเรียน โดยประมาณจะอยู่ที่ 25,000-1,000,000 บาท/เทอม    

การที่จะมีลูก 1 คน ต้องเตรียมเงินไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว ดั้งนั้น "หากตัดสินใจจะมีลูก" เราควรจะ "วางแผนเก็บเงินให้พร้อม" เพื่อมอบโอกาสและสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกของเรา แล้วลูกของเราก็ได้มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพรวมถึงมีโอกาสได้ทำงานดีๆ  แล้วถ้าได้เห็นความสำเร็จของลูก คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็จะมีความสุขทุกวันยันเกษียณกันเลย

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO   Line@ : @tiscoasset

#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #Smartspending