เตรียมบ้านเพื่อการเกษียณ เรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม
เตรียมบ้านเพื่อการเกษียณ เรื่องใกล้ตัวที่หลายคนมองข้าม

เวลาเพื่อนๆ วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ ได้เตรียมงบประมาณไว้สำหรับการปรับปรุงหรือซ่อมแซมบ้านบ้างหรือเปล่าคะ คาดว่าหลายๆ คนจะลืมคิดถึงจุดนี้ เมื่อถึงตอนเกษียณ คนเรามักจะคิดว่า“สบายตัวละ ผ่อนหมดแล้ว ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบ้านอีกแล้ว”

แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ!!!  บ้านที่เราอยู่อาศัยนั้น นานวันไปย่อมมีการเสื่อมสภาพ ไม่ว่าจะเป็นสีลอก ท่อรั่ว สายไฟชำรุด พื้นทรุด และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งช่วงเวลาหลังเกษียณอาจกินเวลานาน 20-30 ปี ดังนั้น เราจะต้องเผื่องบไว้สำหรับการซ่อมแซมบ้านของเรา 2-3 ครั้งเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ด้วยอายุอานามที่มากขึ้น ร่างกายก็ไม่แข็งแรงเหมือนเก่า เราจึงควรเตรียมงบไว้สำหรับปรับปรุงบ้านหรืออาจจะสร้างบ้านใหม่ที่เหมาะสำหรับวัยเกษียณ ซึ่งแน่นอนว่าการปรับปรุงหรือสร้างบ้านใหม่ก็ต้องให้เหมาะสมกับงบประมาณที่เรามีด้วยนะคะ


แบบบ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
1. บ้านชั้นเดียวหรือคอนโดที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ

มีทางเดิน ลิฟฟ์โดยสาร ราวจับ ที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ ในการใช้งานอย่างสะดวก สบาย ในการใช้ชีวิตภายในบ้าน 

2. ประตูและธรณีประตู

ประตูควรจะเป็นบานเลื่อน โดยจะต้องกว้างพอที่จะให้รถเข็นผ่านได้สะดวก และไม่ควรมีขอบธรณีประตูกันการสะดุดหกล้ม 

3. พื้น

พื้นภายในตัวบ้านควรเป็นวัสดุที่มีผิวสัมผัสไม่ลื่น ไม่มีพื้นต่างระดับ และไม่ควรปูพรม เนื่องจากขอบพรมอาจนูนหรือเผยอขึ้นทำให้สะดุดหกล้มได้ 

4. ห้องน้ำ

ห้องน้ำควรมีความกว้าง 1.5 – 2 เมตร มีราวจับตั้งแต่ทางเข้าห้องน้ำไปจนถึงห้องอาบน้ำ ซึ่งราวจับจะต้องยึดติดกับผนังอย่างแน่นหนาสามารถรับน้ำหนักของผู้สูงอายุกรณีที่ยืนขึ้นจากการใช้สุขภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ความสะดวก และการออกแบบมาเพื่อรองรับสรีระ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ ดังนี้

  • พื้นห้องน้ำต้องมีผิวสัมผัสไม่ลื่น
  • ประตูกว้างแบบบานเลื่อน ความกว้างอย่างน้อย 90 ซ.ม. ลูกบิดเป็นก้านโยก หรือแบบแกน ไม่มีธรณีประตู
  • อ่างล้างหน้า ควรมีส่วนโค้งเว้าด้านหน้าเพื่อให้รถเข็นสามารถเข้าใช้งานได้สะดวก และเลือกใช้ก็อกน้ำแบบก้านปัด เพื่อให้เปิด-ปิดน้ำได้ง่าย
  • โถสุขภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ ที่มีการออกแบบมาให้มีความสูงใกล้เคียงกับเก้าอี้ ไม่เตี้ยเกินไป เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกเวลาลุกนั่ง ที่กดชำระเป็นแบบก้านปัดที่ง่ายต่อการใช้งาน
  • “Shower seat” หรือเก้าอี้ยึดติดผนังสำหรับการนั่งอาบน้ำ วัสดุต้องมีคุณภาพ แข็งแรง และป้องกันการลื่น
5. แสงสว่างและสวิตซ์ไฟ

ตามจุดต่างๆ ทั่วบ้าน จะต้องมีแสงสว่างเพียงพอ โดยสวิตซ์ไฟควรเป็นสวิตซ์ใหญ่สีขาวที่เห็นได้ชัดเจนและอยู่ในระยะที่ผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็นสามารถเปิด-ปิดไฟได้สะดวก ส่วนในบริเวณที่เป็นจุดอับก็ติดไฟที่เป็นแบบเปิด-ปิดอัตโนมัติเวลาเดินผ่าน 

6. เครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ

เครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือควรติดไว้ตามจุดต่างๆ ของบ้าน รวมทั้งในห้องน้ำ ซึ่งจะมีประโยชน์มาก กรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เราสามารถกดสัญญาณฉุกเฉินเพื่อให้มีคนมาช่วยเหลือได้ทันท่วงที

7. พื้นที่นอกบ้าน

มีพื้นที่นอกบ้านที่เพียงพอไว้ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจหรือปลูกต้นไม้เพื่อความสบายตาและดูวิวเพื่อความสบายใจ

ดังนั้น ถ้าเราวางแผนเก็บเงินให้ดี เราก็จะสามารถสร้างบ้านที่เหมาะสำหรับอยู่อาศัยหลังเกษียณได้ แต่ถ้าเรามีงบไม่เพียงพอที่จะสร้างบ้านใหม่ เราอาจแค่ปรับปรุงบ้านเดิมของเราเฉพาะในจุดที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ย้ายห้องนอนลงมาอยู่ชั้นล่าง เปลี่ยนวัสดุให้เป็นวัสดุที่มีผิวสัมผัสไม่ลื่นโดยเฉพาะพื้นในห้องน้ำ ติดตั้งไฟทั่วบ้านให้มีแสงสว่างเพียงพอ รวมถึงเตรียมเบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็นสำหรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินไว้ในที่เห็นที่คนในบ้านจะเห็นได้ง่าย เป็นต้น

นอกจากนี้ สำหรับคนที่ขี้เหงา ปัจจุบันนี้มีโครงการบ้านพักผู้สูงอายุเปิดตัวมากมาย เราสามารถเลือกโครงการให้เหมาะกับ Lifestyle ของเรา และงบประมาณที่เรามีอยู่ โดยโครงการเหล่านี้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ มีคนคอยดูแล รวมทั้งมีกิจกรรมสันทนาการเพิ่มเติมต่างๆ ไว้ให้ลูกบ้านได้ทำให้คลายเหงา ซึ่งเราสามารถรวมกลุ่มญาติสนิท มิตรสหายไปพักอาศัยอยู่โครงการเดียวกัน จะได้สนุกสนานไปด้วยกัน แล้วทีนี้ เราก็จะได้มีความสุขทุกวันยันเกษียณกันทุกคนเลยค่ะ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO   Line@ : @tiscoasset

#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #SmartLiving