เทคนิคเกษียณ แซ่บ

ถ้ามีคนถามว่า “อยากเกษียณกันตอนไหนจ๊ะ” คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อยากเกษียณเร็วๆ ซักอายุ 40 จะได้เที่ยวได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องมานั่งเครียดกับงานแบบเนี้ย...”

แต่ในความเป็นจริง  เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า การเกษียณเร็วกว่ากำหนดเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก ขอย้ำว่ายากมากจริงๆ.... ถ้าไม่มีการวางแผนเกษียณอย่างดีมาแต่เนิ่นๆ

ซึ่งหลายๆ คน ทำงานกันจนถึงวันเกษียณอายุ 60 ก็ยังมีเงินเก็บไม่พอสำหรับใช้หลังเกษียณเลย

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2560 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 15.41 ล้านคน ผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงานอยู่มีจำนวน 4.06 ล้านคน หรือคิดเป็น 35.8% ของผู้สูงอายุทั้งหมด

แน่นอนว่า...เราคงไม่อยากเป็นหนึ่งในผู้สูงอายุที่ยังต้องเหนื่อย ทำงานหาเงินงกๆ แบบเข่าเจ็บๆ ตอนที่เราอายุเยอะแล้ว และเมื่อถึงเวลา จะมานั่งคิด “เฮ้อ..รู้อะไรไม่เท่ารู้งี้”

แล้วต้องทำยังไงที่เราจะเกษียณได้ตามเป้าหมายและมีความสุขกันล่ะ

ก่อนอื่นๆ ก็ต้องลองไปคำนวนเงินที่เราต้องมี ณ วันเกษียณกันก่อน โดยปัจจัยหลักที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้


ทำยังไงที่เราจะเกษียณได้ตามเป้าหมายอย่างมีความสุข
1. อายุขัย

หลังเกษียณเราคิดว่าจะมีอายุต่อไปอีกกี่ปี ถ้าไม่รู้...ก็ให้ดูจากครอบครัวและวิถีชีวิตของเราเป็นหลัก ถ้ามองไปรอบๆ เห็นอาม่าอากงอายุ 90 กว่าๆ และเราก็ดูแลร่างกาย ทานอาหารดีมีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็เตรียมใจไว้ได้เลยว่าเราก็คงจะมีอายุยืนเช่นเดียวกับท่าน ซึ่งโดยหลักแล้ว การกำหนดอายุขัยไม่ควรกำหนดให้ต่ำเกินไป เราต้องกำหนดให้อายุยืนเข้าไว้เพื่อจะได้เตรียมเก็บเงินให้เยอะๆ แต่ถ้าเกิดเราอายุไม่ยืนก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าเหลือเงินไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลานสุดเลิฟของเรา

2. เงินเก็บของเราในปัจจุบัน

คนที่มีวินัยในการออมดีมาตลอด ก็จะมีเงินก้อนและจะเหนื่อยน้อยกว่าคนที่ไม่มีเงินเก็บเลย ซึ่งถ้าเรามีเงินเก็บอยู่แล้ว เงินที่เราต้องเก็บต่อเดือนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการเกษียณก็จะน้อยกว่าคนที่ไม่มีเงินก้อนที่เก็บออมไว้เลย

3. เงินออมหรือเงินลงทุนต่อเดือนในปัจจุบัน

เงินออมต่อเดือน รวมเงินที่เราเก็บออมทุกประเภท  เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินฝากประจำ เป็นต้น ซึ่งถ้าเรามีเงินออมหรือเงินลงทุนต่อเดือนมากขึ้น เราก็จะถึงเป้าหมายเพื่อการเกษียณได้เร็วขึ้น

4. ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เราต้องใช้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกว่าเราต้องเตรียมเงินไว้เท่าไหร่ โดยส่วนใหญ่ค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างจะลดลงหลังเกษียณ เช่น ค่ารถไปทำงาน ค่าเสื้อผ้าทำงาน ค่างานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่เราจะต้องเสียมากขึ้น นั่นก็คือ ค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น อย่าลืมคำนวณเผื่อค่ารักษาพยาบาลหรือทำประกันสุขภาพเผื่อไว้ด้วย

5. ผลตอบแทนจากการลงทุน

ถ้าเราเอาเงินไปฝังตุ่ม เงินนั้นก็จะไม่งอกเงยเกิดดอกออกผลขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราเอาเงินไปลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ แล้วได้ผลตอบแทนก็จะทำให้เงินเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเงินฝากธนาคาร ตราสารหนี้ หรือหุ้น ซึ่งเราไม่ควรคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนให้สูงจนเกินไป เพราะหากผลตอบแทนที่ได้ไม่เป็นไปตามที่เราคาดไว้ เงินออมเพื่อการเกษียณที่เราเตรียมไว้ก็จะไม่เพียงพอไปจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

 

ถ้าตัวเลขปัจจัยข้างต้นพร้อมแล้วก็ลองไปคำนวณเงินที่เราต้องมี ณ วันเกษียณกันได้เลยที่ http://bit.ly/2KaObFN

หากพบว่าเรายังออมเงินไปพอสำหรับชีวิตหลังเกษียณ เราก็ต้องปรับการใช้ชีวิตใหม่และวางแผนการเงิน ดังนี้
1. ออมก่อนใช้

พอได้เงินเดือนมาปุ๊บต้องออมก่อนอย่างน้อยๆ 10%-20% ของเงินเดือน เหลือเท่าไหร่ ค่อยจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็น ยิ่งถ้าใครที่ออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ให้ใส่เงินสะสมสูงสุดที่อัตรา 15% กันไปเลย (ขึ้นอยู่กับข้อบังคับกองทุนของแต่ละบริษัทด้วย) การกำหนดอัตราการออมเป็นเปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนทำให้จำนวนเงินออมปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นไปด้วย

2. ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

ให้จัดทำงบประมาณรายจ่าย เพื่อดูว่ารายจ่ายตัวไหนไม่จำเป็นก็ให้ปรับลด แล้วเราก็จะมีเงินเหลือเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน เผลอๆ เงินที่เหลือเพิ่มอาจทำให้เรารู้สึกเหมือนกับได้ปรับขึ้นเงินเดือนเลยทีเดียว

3. จัดการหนี้ร้าย

ให้ปลดหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ให้หมดโดยเร็ว โดยเลือกจ่ายหนี้ก้อนเล็กให้หมดแล้วค่อยขยับไปเคลียร์หนี้ก้อนโตต่อไป และให้จ่ายหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อนหนี้ที่มีดอกเบี้ยต่ำ พอเคลียร์หนี้หมดแล้ว เราจะเริ่มเห็นเงินสดเหลือมากขึ้นแล้วจะได้หาทางขยับขยายหารายได้เพิ่มต่อไป

4. ลงทุนในทรัพย์สินสร้างรายได้

หาทางเพิ่มรายได้ที่เรียกว่า Passive Income ซึ่งก็คือ เก็บเงินเพื่อไปลงทุนในทรัพย์สินที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเราโดยที่เราไม่ต้องไปดูแลจัดการอะไรมาก เช่น ลงทุนในหุ้นที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในทำเลดีๆ เพื่อปล่อยเช่า เป็นต้น  กรณีปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ เราควรปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เพื่อให้มีผู้เช่าต่อเนื่อง

5. เพิ่มขีดความสามารถ

หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมความสามารถอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสก้าวหน้าในอาชีพและมีรายได้สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เรามีเงินออมมากขึ้นในอนาคต

6. หารายได้เสริม

เราอาจสร้างรายได้จากสิ่งที่เราถนัด เช่น การทำขนม การปลูกต้นไม้ การถ่ายภาพ เป็นต้น เพื่อมีรายได้เพิ่มเติมจากรายได้ประจำในแต่ละเดือน แต่!! ก็ต้องจัดสรรเวลาให้ไม่กระทบกับงานประจำด้วยนะ 

 

ถ้าเราปรับตัวได้ตามนี้ เราก็มีสิทธิที่จะไปถึงเป้าหมายการเกษียณที่เราตั้งไว้ตามกำหนดหรือเร็วกว่ากำหนดที่ตั้งไว้ แล้วก็จะกลายเป็นก๊วนเกษียณแซ่บ มีความสุขทุกวันยันเกษียณไปด้วยกันเลยครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO   Line@ : @tiscoasset

#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #SmartLiving