เงินชดเชยจากนายจ้าง อีกหนึ่งสิทธิสำหรับมนุษย์เงินเดือน

ใครที่จะเกษียณอายุตอนสิ้นปีนี้ นอกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว จะได้รับของขวัญอีกอย่างที่ทำให้ยิ้มกว้าง ซึ่งก็คือ “เงินชดเชยจากบริษัทนายจ้าง” นั่นเอง

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างที่ทำงานจนเกษียณอายุตามที่นายจ้างกำหนดไว้ จะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างตามเงื่อนไขต่อไปนี้

1. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จะได้รับเงินชดเชย 30 วัน 
2. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จะได้รับเงินชดเชย 90 วัน 
3. ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี จะได้รับเงินชดเชย 180 วัน 
4. ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับเงินชดเชย 240 วัน 
5. ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี จะได้รับเงินชดเชย 300 วัน 
6. ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน

สำหรับบริษัทที่ไม่ได้กำหนดอายุเกษียณไว้ หรือกำหนดอายุเกษียณไว้เกิน 60 ปี ลูกจ้างที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปสามารถแสดงเจตนาต่อนายจ้างว่าจะเกษียณอายุ และจะมีผลเมื่อครบ 30 วันนับจากวันที่แสดงเจตนา โดยนายจ้างจะต้องจ่ายเงินชดเชยตามเงื่อนไขข้างต้น  


ตัวอย่างการคำนวณ

ทำงานกับบริษัทจนเกษียณอายุ อายุงานทั้งหมด 25 ปี เงินเดือนสุดท้าย 75,000 บาท

กรณีนี้ จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน
ให้นำเงินเดือนเดือนสุดท้าย 75,000 บาทหารด้วย 30 วัน = 2,500 บาท/วัน ดังนั้น ตอนเกษียณจะได้รับเงินชดเชย  400 วัน * 2,500 บาท/วัน = 1,000,000 บาทนั่นเอง

 

กรณีอายุงานครบ 5 ปี กับสิทธิแยกยื่นภาษี

นอกจากนี้ กรณีอายุงานครบ 5 ปีขึ้นไป เงินชดเชยที่ได้จากนายจ้าง สามารถแยกยื่นภาษีโดยไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ประจำปีของเราในปีนั้น ทำให้เราได้และเสียภาษีน้อยลงไปเยอะเลย 


เงินชดเชยที่ได้รับ – (7,000 x จำนวนปีที่ทำงาน)/2  =  เงินที่ต้องนำไปคำนวณภาษี =เงินที่คำนวณภาษี

หลักการคำนวณภาษีตามสูตรดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น หากต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องภาษีโดยละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมสรรพากร

ในช่วงเกษียณอายุ เราจะได้รับเงินก้อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินชดเชยจากนายจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อเลี้ยงชีพ ดังนั้น ให้ปรับสัดส่วนเงินลงทุนให้เหมาะกับช่วงอายุและระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ โดยให้มีสัดส่วนเงินลงทุนในทรัพย์สินเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ ประมาณ 10%-15% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง คือ แบ่งเงินก้อนแรกเท่ากับจำนวนเงินที่คาดว่าต้องใช้หลังเกษียณ และนำเงินก้อนแรกนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ว่าเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจอย่างไร เงินก้อนนี้จะไม่ได้รับผลกระทบและมีให้ใช้ตามที่วางแผนไว้ ส่วนก้อนที่เหลือสามารถนำไปลงทุนสินทรัพย์ที่เสี่ยงขึ้นได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนเพิ่มเติม

ทุกคนสามารถเลือกมีชีวิตหลังเกษียณที่มีความสุขได้ เพียงแค่เรารู้จักวางแผนการใช้ชีวิตอย่างสมาร์ท เราก็จะมีชีวิตที่มั่นคงมั่งคั่งทั้งในปัจจุบัน แล้วก็มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO   Line@ : @tiscoasset

#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #SmartLiving