รักใคร ต้องให้เค้า “ออม”

เวลาที่เรารักใคร เราก็อยากจะมอบแต่สิ่งดีๆ ให้คนที่เรารัก คอยหาของที่เค้าชอบไม่ว่าจะเป็นขนมนมเนย ของขวัญของมีค่าต่างๆ มาให้เค้าตลอด แต่นอกจากสิ่งของแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากที่ควรจะมอบเพิ่มเติม เพื่อให้คนที่เรารักมีชีวิตที่ดี มั่นคงและมั่งคั่งในอนาคต นั่นก็คือ การมอบคำแนะนำเกี่ยวกับการออมและลงทุน นั่นเอง

สำหรับเทคนิคการออมการลงทุนที่เห็นผลแน่นอน ก็คือ เทคนิค “ออมก่อนใช้” ซึ่งเป็นเทคนิคที่สร้างวินัยในการออม โดยเวลาที่เงินเดือนออก ให้กันเงินไว้เป็นเงินออมและลงทุนอย่างน้อย 10%-20% ของรายได้ จากนั้นเหลือเท่าไหร่ค่อยนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นต่อไป ถ้าพร้อมแล้วไปเริ่มออมกันได้เลยครับ  


1. ออมอุ่นใจ...เงินสำรองฉุกเฉิน 3-6 เดือนของค่าใช้จ่าย

เงินออมสำคัญก้อนแรกที่ควรออมก็คือ เงินสำรองฉุกเฉินที่จะเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น เวลาไม่มีรายได้เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ หรือออกจากงานอย่างกระทันหัน เป็นต้น โดยให้เก็บเงินไว้ในทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องและไม่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำระยะสั้น เป็นต้น โดยเงินสำรองฉุกเฉินควรกันไว้ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน 

2. ออมรวยล้าน...กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) 15%

การออมผ่าน PVD เป็นการออมที่เวิร์คสุดๆ เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างวินัยในการออมด้วยการสะสมเงินเข้า PVD ทันทีทุกครั้งที่เงินเดือนออกแล้ว ยังมีนายจ้างใจดีมาช่วยสมทบเงินเข้ากองทุนให้อีกต่างหาก โดยเราสามารถสะสมเงินออมเข้า PVD ได้สูงสุดถึง 15% ของค่าจ้างเลยนะ ซึ่งถ้าใครออมเต็ม Max 15% ใน PVD ตั้งแต่อายุยังน้อย บอกเลย...โอกาสมีเงินล้านสูงมว๊าก ไปดูตัวอย่างกันเลย

คุณรวยเป็นล้าน เริ่มทำงานอายุ 22 ปี ได้เงินเดือน 15,000 บาท เงินเดือนขึ้น 5% ต่อปี  สะสมเงินเข้า PVD 15% ของค่าจ้าง โดยอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนใน PVD เท่ากับ 4% ต่อปี  ลองคำนวนคร่าวๆ เมื่ออายุ 60 ปี

คุณรวยเป็นล้านจะมีเงินใน PVD  (เฉพาะส่วนของสมาชิก ไม่รวมส่วนของนายจ้าง) จำนวน 5.75 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 3.08 ล้านบาท และผลตอบแทน 2.67 ล้านบาท

3. ออมรวยแล้วรวยอีก...ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) / กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

นอกจากออมเต็ม Max ผ่าน PVD แล้ว หากใครสามารถออมเพิ่มได้ ไม่ควรพลาดการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund : SSF) ด้วยเทคนิคการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย “Dollar-cost averaging (DCA)” ซึ่งเป็นการทยอยซื้อหรือลงทุนแบบอัตโนมัติเป็นรายเดือน โดยไม่สนใจว่าราคาหน่วยลงทุน ณ วันที่ลงทุนเป็นเท่าไร เป็นเทคนิคที่เน้นสร้างวินัยในการลงทุน แบบไม่ต้องมานั่งปวดหัวและกังวลเรื่องราคาหลักทรัพย์ต่างๆ ที่มีความผันผวนอย่างหุ้นนั่นเอง

ซึ่งเงินลงทุนใน RMF และ SSF แต่ละรายการนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมินในปีนั้น โดยลงทุนใน RMF ได้สูงสุดไม่เกินปีละ 500,000 บาท ในขณะที่ SSF ลงทุนสูงสุดไม่เกินปีละ 200,000 บาท

ทั้งนี้ เงินลงทุนใน RMF และ/หรือ SSF เมื่อรวมกับ PVD และกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ซึ่งได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในแต่ละปีภาษี

สำหรับการลงทุน ให้แบ่งเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศบางส่วน เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว ซึ่งการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต้องขึ้นกับระดับการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคน


เพียงแค่วางแผนการออมและลงทุนอย่างสมาร์ท ตัวเราเองและทุกคนที่เรารักก็จะมีชีวิตที่มั่นคงมั่งคั่งทั้งในปัจจุบัน แล้วก็มีความสุขทุกวันยันเกษียณเลยล่ะครับ

 

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO คลิก https://goo.gl/HKbuw4 #TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement #Smartsaving #FreedombyTISCOPVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #กองทุนเลี้ยงชีพ