มีเงินล้าน อย่าเพิ่งบอกว่าอยู่ไหว!!

“ถ้ามีเงินก้อนซักล้านนึง ก็ไม่อยากทำงานแล้วอ่ะ ทั้งเครียดทั้งเหนื่อย ขอออกไปนั่งชิลล์ ใช้ชีวิตตามใจดีกว่า”


ว่าแต่...ใครที่คิดแบบนี้ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจลาออกจากงาน หรือ early retired ลองไปดูเคสตัวอย่างกันก่อนครับ   

นีน่ามีเงินเก็บประมาณ 1 ล้านบาท ปัจจุบันอายุ 40 ปี ใช้จ่ายเงินเดือนละ 15,000 บาท นีน่าคาดว่าตัวเองจะมีอายุขัยไม่เกิน 70 ปี โดยประวัติครอบครัวของนีน่า ปู่ย่าตายายมีอายุ 80 ปีขึ้นไปทุกคน นีน่าตัดสินใจลาออกจากงานพร้อมเงินเก็บ 1 ล้านบาท ไปดูกันว่า นีน่าจะมีเงินใช้เดือนละเท่าไหร่

ในการคำนวณจะมีการนำค่าเฉลี่ยระยะยาวของเงินเฟ้อซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นทุกปี และผลตอบแทนที่ได้จากการนำเงินไปลงทุนมาร่วมในการคำนวณด้วย 

กรณีที่ 1 เงินเฟ้อ 3% ผลตอบแทนจากการลงทุน 2% ต่อปี นีน่าจะมีเงินใช้ประมาณเดือนละ 2,400 บาท
กรณีที่ 2 เงินเฟ้อ 3% ผลตอบแทนจากการลงทุน 5% ต่อปี นีน่าจะมีเงินใช้ประมาณเดือนละ 3,700 บาท

จากทั้ง 2 กรณีข้างต้น แม้นีน่าจะมีเงินเป็นล้าน แต่การใช้ชีวิตต่อไปอีก 30 ปีโดยไม่มีรายได้เพิ่มจากการทำงาน นีน่าจะเหลือเงินใช้จ่ายเพียงเดือนละ 2,400 บาท และ 3,700 บาท ซึ่งแปลว่าคุณภาพชีวิตแย่ลงกว่าเดิมมากๆ แล้วถ้าอายุขัยของนีน่ายืนยาวเหมือนปู่ย่าตายาย นีน่าก็จะมีเงินใช้ต่อเดือนน้อยลงไปอีก ซึ่งถ้าหากนีน่าอยากมีคุณภาพขีวิตแบบเดิม คือ ใช้จ่ายเท่าเดิมเดือนละ 15,000 บาท เงิน 1 ล้านบาทก็จะหมดอย่างรวดเร็วภายใน 6 ปี หรือตอนที่นีน่าอายุ 46 นั่นเอง

ดังนั้น ก่อนที่จะเราออกจากงาน เราต้องคำนวณว่าเราอยู่ไหวมั้ยด้วยเงินก้อนที่มี วันนี้ เราก็เลยจะพามาคำนวณ “เงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ” ซึ่งปัจจัยหลักที่ใช้ในการคำนวณถึงมีดังนี้

1. อายุขัย

ให้ลองประมาณอายุขัยของตัวเองคร่าวๆ จากอายุขัยของคนในครอบครัวของเรา และวิถีการใช้ชีวิตว่าเราดูแลตัวเองดีหรือเปล่า ตามหลักแล้ว ควรกำหนดให้ตัวเราอายุยืนเข้าไว้ เพื่อจะได้วางแผนเก็บเงินไว้ให้มากที่สุด ซึ่งอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่พ้นวัยเกษียณแล้วปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80 ปีสำหรับผู้ชาย และ 85 ปีสำหรับผู้หญิง*

*ที่มา : สารประชากร มหาวิทยาลัยมหิดล

2. เงินเก็บ ณ ปัจจุบัน

ใครที่ “ออมก่อนใช้” มีวินัยทางการเงินที่ดีมาตลอด และใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งจำเป็น ก็จะมีเงินเก็บในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวช่วยให้เงินที่เราต้องเก็บออมต่อเดือนน้อยกว่าคนที่ไม่มีเงินก้อนที่เก็บออมไว้เลย

3. เงินลงทุนต่อเดือน

เงินลงทุนต่อเดือน หมายถึงเงินที่เราออมและลงทุนทุกประเภทในแต่ละเดือน  ไม่ว่าจะเป็นเงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินฝากประจำ เป็นต้น ซึ่งหากเราลงทุนในแต่ละเดือนมากขึ้น เราก็จะไปถึงเป้าหมายเพื่อการเกษียณได้เร็วขึ้น โดยอัตราการออมขั้นต่ำควรอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10-20 ต่อเดือน

4. ค่าใช้จ่ายต่อเดือน

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อเดือนขึ้นกับรูปแบบการใช้ชีวิต ใครใช้ชีวิตแบบพอเพียงก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนน้อยกว่าคนที่ใช้ชีวิตแบบพรีเมี่ยม นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณบางอย่างอาจลดลง เช่น ค่าเดินทาง ค่าปาร์ตี้สังสรรค์ เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมคำนวณรวมค่าซ่อมแซมบ้าน และค่ารักษาพยาบาลที่จะเพิ่มขึ้นหลังเกษียณไว้ด้วย นอกจากนี้ ควรมีประกันสุขภาพไว้ให้พร้อม เงินที่เราเก็บทั้งชีวิตจะได้ไม่หมดไปกับค่ารักษาพยาบาล

5. ผลตอบแทนจากการลงทุน

สำหรับผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนนั้น ขึ้นกับทรัพย์สินที่เราลงทุน ซึ่งในภาวะปัจจุบันที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก แนะนำให้แบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงบ้าง เช่น หุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับระดับการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละคนด้วย

ถ้าเตรียมข้อมูลปัจจัยข้างต้นพร้อมแล้ว ไปคำนวณเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณกันได้เลยที่ http://bit.ly/2KaObFN


ถ้าเพื่อนๆ อยากมีชีวิตที่มั่งคั่งมั่นคงในปัจจุบันและสุขสบายหลังเกษียณ เพื่อนๆ ควรวางแผนออมและลงทุนแบบสมาร์ทอย่างเต็มกำลัง ซึ่งหากลงมือได้สำเร็จ เป้าหมายที่เพื่อนๆ ตั้งใจไว้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอนครับ

 

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO คลิก https://goo.gl/HKbuw4 #TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement #Smartsaving #FreedombyTISCOPVD #กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ #กองทุนเลี้ยงชีพ