ทำไมต้องเปิดเผยข้อมูลจริงเมื่อทำประกัน?
ทำไมต้องเปิดเผยข้อมูลความจริง เมื่อทำประกัน?

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเสียงบ่นว่า “ทำประกันแล้วไม่เห็นจะโอเลยอ่ะ พอเกิดเรื่องก็เคลมไม่ได้” 

แล้วเคยสงสัยกันมั้ยคะว่า เวลาที่เราจะขอทำประกันชีวิต ทำไมบริษัทประกันต้องให้เรากรอกข้อมูลใน “ใบคำขอเอาประกันชีวิต” ตั้งหลายหน้า ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล อาชีพ รวมถึงโรคที่เราเคยเป็นหรือกำลังรักษาอยู่

พอดูตรงส่วนที่เป็นคำถามเกี่ยวกับสุขภาพ ถามเยอะแยะมากมายว่าเราเคยเป็นโรคนั้นโรคนี้มั้ย ขี้เกียจตอบมากเลยอ่ะ ตอบว่า “ไม่เคย” ให้หมดเลยดีมั้ย คำตอบก็คือ “ไม่ดีแน่นอน” เพราะอะไร....มาดูเหตุผลกันดีกว่า


การทำประกันชีวิต คือ การที่ผู้เอาประกัน (ผู้ขอทำประกัน) เข้าทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกัน และหากเกิดความเสียหายกับผู้เอาประกัน บริษัทประกันจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกัน แต่ถ้าผู้เอาประกันไม่ได้เป็นอะไร บริษัทประกันก็ไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งถือว่าเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขภายในกลุ่มของผู้ทำประกันประเภทเดียวกัน โดยผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกัน ทั้งนี้ การทำประกันนั้นยึดหลักความสุจริตอย่างยิ่งหรือความซื่อสัตย์ของคู่สัญญา  

ซึ่งการที่เราต้องตอบคำถามของบริษัทประกันในใบคำขอเอาประกันชีวิต ก็เพื่อให้บริษัทประกันมีข้อมูลเพื่อไปพิจารณาว่า บริษัทจะรับทำประกันหรือไม่ แล้วถ้ารับทำควรคิดค่าเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมกับความเสี่ยงในการรับทำประกันให้กับเรานั่นเอง ดังนั้น เราในฐานะผู้เอาประกันภัย มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงของตนเองให้ผู้รับประกันภัยขณะที่เข้าทำสัญญาประกันชีวิต

ทีนี้...ถ้าเราตอบไม่ตรงความจริงหรือปกปิดข้อมูล แล้วบริษัทประกันมารู้ภายหลัง สัญญาประกันที่ทำไว้นั้นจะตกเป็น “โมฆียะ” ทันที นั่นก็หมายถึง สัญญานั้นอาจถูกบอกล้าง (ยกเลิก) หรือให้สัตยาบัน (ยอมรับ) ได้ (ขึ้นอยู่กับบริษัทประกันเป็นผู้พิจารณา)  

หากบริษัทประกันใช้สิทธิ์บอกล้างสัญญา จะถือว่าสัญญาประกันชีวิตไม่สมบูรณ์หรือเป็นโมฆะมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันแรกที่มีการทำสัญญาประกันชีวิต ซึ่งก็หมายความว่า หากเราขอเคลมประกัน บริษัทประกันไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน

นอกจากนี้ การที่ผู้เอาประกันไม่ได้แจ้งเกี่ยวกับโรคที่ตนเองเป็นในเวลาที่ทำสัญญา ต่อมาภายหลังถึงแม้ว่าจะเสียชีวิตด้วยโรคอื่นที่เป็นหลังจากทำประกันไปแล้ว สัญญาประกันชีวิตก็มีโอกาสตกเป็นโมฆียะเช่นกัน

ดังนั้น ด้วยหลักสุจริตอย่างยิ่ง เราต้องแจ้งข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราในช่วงที่เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับบริษัทประกัน และเมื่อบริษัทประกันพิจารณาแล้วว่าจะรับทำประกัน หรือรับทำประกันโดยมีเงื่อนไข หรือรับทำประกันแต่ปรับเพิ่มค่าเบี้ยประกัน เราเองก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะยอมเสียเบี้ยประกันที่สูงขึ้นแลกกับความคุ้มครองหรือเปล่า แต่ถ้าบริษัทประกันปฏิเสธไม่รับทำประกันตั้งแต่ต้น เราก็จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาและเสียอารมณ์จากการที่บริษัทประกันบอกล้างสัญญาในภายหลังเนื่องจากเราปกปิดข้อมูล 

 

ดังนั้น แค่แจ้งข้อเท็จจริงให้ครบ เราก็จะสามารถรักษาสิทธิของเราหรือผู้รับประโยชน์ของเราในการได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกัน แล้วก็มีความสุขทุกวันยันเกษียณกันครับ

เพื่อนๆ สามารถติดตามสาระดีๆ และข้อมูลข่าวสารด้านการวางแผนการเงินและการลงทุนได้ที่ TISCO Smart Retirement Facebook : TISCO   Line@ : @tiscoasset

#TISCOsmartretirement #สุขทุกวันยันเกษียณ #Smartretirement  #SmartInsure